May 3, 2024

          ผ่านสามแยกวัดท่าสะต๋อยไปทางทิศใต้ไม่ไกลจะมองเห็นค่ายกาวิละ ซึ่งเป็นที่ตั้งของกองทัพทหารราบที่ 1 กรมทหารราบที่ 7 มณฑลทหารบกที่ 33 และฝั่งตรงข้ามค่ายกาวิละเป็นที่ตั้งของอนุสาวรีย์พระเจ้ากาวิละ พระเจ้ากาวิละเป็นผู้กอบกู้เมืองเชียงใหม่ซึ่งขณะนั้นเป็นเมืองร้างให้กลับคืนสู่ความเป็นเมืองที่มีชีวิตอีกครั้ง ประวัติและวีรกรรมของพระเจ้ากาวิละได้จารึกไว้ที่ด้านอนุสาวรีย์ของพระองค์ ดังนี้

          “ในระยะเวลาที่พระเจ้าฟ้าชายแก้ว บิดาของพระเจ้ากาวิละครองเมืองลำปางอยู่นั้น (พ.ศ.2302) อาณาจักรลานนาไทย เมืองต่าง ๆ ยังแยกกันปกครอง ไม่ขึ้นต่อกัน ครั้น พ.ศ.2307 ชนชาติพม่าได้แผ่อิทธิพลเข้ามา ครอบครองอาณาจักรลานนาไทยมี เชียงใหม่ ลำพูน ลำปาง แพร่ น่าน แม่ฮ่องสอนไว้ทั้งหมด พระเจ้ากาวิละได้พยายามคิดจะกอบกู้เอกราชของลานนาไทยอยู่ด้วยความกล้ากาญเด็ดเดี่ยวตลอดมา”

          พ.ศ.2317 พระบาทสมเด็จพระเจ้าตากสินมหาราชแห่งกรุงธนบุรีได้ยกกองทัพมาจากกรุงธนบุรี เพื่อขับไล่กองทัพพม่าห้พ้นไปจากอาณาจักรลานนาไทย พระเจ้ากาวิละทราบจึงได้นำกำลังของชาวลานนาไทยเข้าร่วมกับกองทัพพระเจ้าตากสินมหาราช ขับไล่พม่าออกไปจากเชียงใหม่สำเร็จวันที่ 5 กุมภาพันธ์ พ.ศ.2317 และพระเจ้ากาวิละได้รับแต่งตั้งให้ครองเมืองลำปาง พระยาจ่าบ้านผู้นำให้ครองเมืองเชียงใหม่

          พ.ศ.2325 พระบาทสมเด็จพระพุทธยอดฟ้าจุฬาโลก ขึ้นเถลิงราชสมบัติเป็นพระเจ้าแผ่นดินองค์ใหม่แทนพระเจ้าตากสินมหาราช พระเจ้ากาวิละได้พาเจ้านายญาติพี่น้องทั้งปวงในลานนาไทยไปกรุงเทพฯ เข้าเฝ้าละอองธุลีพระบาท แสดงความจงรักภักดี พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวทรงพระราชทานเลื่อนยศและให้ครองเมืองเชียงใหม่ แทนพระเจ้าจ่าบ้านที่ทิ้งเมืองเชียงใหม่ลงไปอยู่กรุงธนบุรี ทำให้เมืองเชียงใหม่รกร้างอยู่นาน

          พ.ศ.2328 กองทัพพม่าได้ยกมาล้อมเมืองลำปาง ขณะที่พระเจ้ากาวิละกำลังรวบรวมพลเมืองจากหัวเมืองต่าง ๆ เข้ามาอยู่ในเมืองเชียงใหม่ และฟื้นฟูก่อสร้างเมืองเชียงใหม่ที่ถูกทอดทิ้งให้เจริญรุ่งเรืองตราบปัจจุบัน เมื่อได้ข่าวจึงได้นำกำลังไปป้องกันเมืองลำปางมิให้ข้าศึกเข้าเมือง ต่อสู้ปกป้องนานถึง 4 เดือน จนกองทัพทางกรุงเทพฯ มาช่วยขับไล่พม่าไปได้สำเร็จ พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวทรงโสมมนัสในความกล้าหาญของพระเจ้ากาวิละครั้งนี้ยิ่งนัก

          พ.ศ.2345 พม่ายกกองทัพมาตีเมืองเชียงใหม่ มีกำลังถึง 7 กองทัพ ล้อมเมืองเชียงใหม่ทั้งสี่ด้าน พระเจ้ากาวิละรักษาเมืองเชียงใหม่ไว้ได้อย่างมั่งคงนานถึง 2 เดือน จนกองทัพทางกรุงเทพฯ มาช่วยทันและขับไล่พม่าจนแตกพ่าย พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวทรงได้สถาปนาพระยศขึ้นเป็น พระบรมราชาธิบดีศรีสุริยวงศ์อินทรศักดิ์ สมญามหาขัติยราชชาติราไธศวรรย์ เจ้าขันทสีมาพระนครเชียงใหม่ราชธานี “กาวิละ” วีรราชเจ้าผู้เป็นใหญ่ในลานนา 54 หัวเมือง

          พ.ศ.2357 กองทัพลานนาไทยของพระเจ้ากาวิละได้เข้าร่วมกองทัพกรุงเทพฯ ยกไปตีเมืองเชียงแสน กองทัพพม่าป้องกันเข้มแข็ง ไม่สามารถเข้าตีแตกได้ กองทัพทางกรุงเทพฯ ขาดเสบียงและทหารล้มป่วยเป็นอันมาก จึงล่าทัพลงมาเหลือแต่กองทัพพระเจ้ากาวิละล้อมเมืองเชียงแสนต่อไป จนเข้าตีเมืองเชียงแสนสำเร็จ

          พ.ศ.2358 พระเจ้ากาวิละยกกองทัพไปเมืองยองหัวเมืองไทยใหญ่ และที่เข้ามาสวามิภักดิ์มีเมืองยอง เชียงรุ้ง แสนหวี สีป๊อ เชียงตุงอยู่ในอาณาจักรไทย เป็นการเพิ่มพระเกียรติแก่กรุงเทพมหานครสมัยรัชกาลที่ 1 ให้พระเกียรติยศแผ่ไพศาล มีดินแดนกว้างขวางยิ่งกว่าสมัยใดในแหลมทอง พระเจ้ากาวิละถึงแก่พิลาลัยใน พ.ศ.2358 รวมอายุ 74 ปี พระอัฐิประดิษฐานอยู่ ณ กู่บริเวณสวนดอก ตำบลสุเทพ อำเภอเมืองเชียงใหม่

          อนุสาวรีย์พระเจ้ากาวิละ ตรงหน้าค่ายกาวิละ ฝั่งตะวันตกถนนเชียงใหม่-ลำพูน วางศิลาฤกษ์เมื่อวันที่ 7 มิถุนายน พ.ศ.2513 โดยพลตรีเจ้าราชบุตร เป็นการริเริ่มของกรมผสมที่ 7 ทหารบก จังหวัดเชียงใหม่ เพื่อเป็นการเทิดทูนเกียรติคุณของท่านวีรชน ผู้กอบกู้เอกราชและรวบรวมล้านนาไทยให้เป็นปึกแผ่น และบริเวณใกล้เคียงอนุสาวรีย์ฯ มีอนุสรสถานพระเจ้ากาวิละซึ่งก่อสร้างเสร็จเมื่อปี พ.ศ.2536

รายการอ้างอิง

รุ่งวิทย์ สุวรรณอภิชน. (2557). ถนนสายสิเน่หา: เชียงใหม่-ลำพูน. เม็ดทรายพริ้นติ้ง.

Rate this post

Leave a Reply

Your email address will not be published. Required fields are marked *