May 15, 2024

อาหารพื้นบ้าน หมายถึง อาหารที่ประชาชนบริโภคอยู่ในชีวิตประจำวันและบริโภคในโอกาสต่างๆ โดยอาศัยเครื่องปรุง วัสดุที่นำมาประกอบอาหารจากแหล่งต่างๆ ทั้งจากแหล่งธรรมชาติที่แวดล้อมอยู่ ด้วยการเก็บของป่า การล่าสัตว์ การจับสัตว์น้ำ และจากการผลิตขึ้นมาเอง เช่น การเพาะปลูก การเลี้ยงสัตว์ หรือจากการซื้อขายแลกเปลี่ยน โดยมีกรรมวิธีทำเป็นเอกลักษณ์ รวมทั้งรสชาติที่เป็นเฉพาะถิ่นแตกต่างกันไป

ชาวอีสานมีวิถีการดำเนินชีวิตที่เรียบง่าย เช่นเดียวกับการรับประทานอาหารอย่างง่าย ๆ เพียง 2-3 จานในแต่ละมื้อ อาหารอีสานแตกต่างจากอาหารพื้นบ้านของภาคอื่น ๆ  โดยมักจะรับประทานได้ทุกอย่างที่มีในท้องถิ่น เพื่อการดำรงชีวิตให้สอดคล้องกับธรรมชาติของภาคอีสาน ชาวอีสานจึงรู้จักแสวงหาสิ่งต่างๆ ที่หาได้ในท้องถิ่นมาดัดแปลงเป็นอาหารรับประทาน จากผลการวิจัยของปวีณภัสสร์ คล้ำศิริ (2547) พบว่า การได้มาซึ่งอาหารของชาวบ้านเต่านอ ตำบลศิลา อำเภอเมือง จังหวัดขอนแก่น มี 5 วิธี คือ การเก็บของป่า การล่าสัตว์ การแลกเปลี่ยน การปลูกพืชและเลี้ยงสัตว์ และการซื้อ ซึ่งการรับประทานอาหารทุกมื้อจะต้องมีผักเป็นส่วนประกอบหลัก และมีเนื้อสัตว์ เช่น ปลา ไก่ วัว ควาย และแมลง เป็นต้น สำหรับรสชาติของอาหารอีสานนั้น ส่วนใหญ่แล้วจะออกรสแซบ ซึ่งหมายถึงรสชาติที่ออกไปทางเค็ม เผ็ด และเปรี้ยว เสน่ห์ของอาหารอีสานอยู่ที่วิธีการปรุงวัตถุดิบ โดยมีเครื่องปรุงอาหารที่ขาดไม่ได้เลย คือ ปลาร้า ซึ่งเกิดจากภูมิปัญญาด้านการถนอมอาหารของบรรพบุรุษชาวอีสาน ซึ่งปลาร้าใช้เป็นเครื่องปรุงหลักของอาหารได้ทุกประเภท เหมือนกับที่ชาวไทยภาคกลางใช้น้ำปลา

เอกสารอ้างอิง

กมลาภรณ์ คงสุขวิวัฒน์.  (2548).  อาหารพื้นบ้านไทย.  กรุงเทพ: โรงพิมพ์องค์การรับส่งสินค้าและพัสดุภัณฑ์.
ปวีณภัสสร์ คล้ำศิริ.  (2547).  ภูมิปัญญาพื้นบ้านด้านอาหาร : กรณีศึกษาหมู่บ้านเต่านอ ตำบลศิลา อำเภอเมือง จังหวัดขอนแก่น. วิทยานิพนธ์ปริญญาสาธารณสุขศาสตรมหาบัณฑิต สาขาวิชาโภชนาการชุมชน บัณฑิตวิทยาลัย มหาวิทยาลัยขอนแก่น.

Loading

Rate this post

Leave a Reply

Your email address will not be published. Required fields are marked *