May 17, 2024

          จากการศึกษาตำนานล้านนาเรื่องความเป็นมาของวัดอุโมงค์ (สวนพุทธธรรม) ช่วงก่อนการเข้ามาบูรณะของเจ้าชื่น สิโรรส ไม่พบว่ามีตำนานล้านนาเล่มใดกล่าวถึงเรื่องนี้เลย เรื่องราวความเป็นมาของวัดแห่งนี้ล้วนเป็นข้อสันนิษฐานจากรูปแบบศิลปะของสถาปัตยกรรมและจิตรกรรมของวัดที่ยังคงหลงเหลืออยู่มาจนถึงปัจจุบัน แต่อย่างไรก็ตามได้มีผู้เขียนประวัติความเป็นมาของวัดอุโมงค์ (สวนพุทธธรรม) ไว้ดังนี้

          1. ผู้สร้างวัดอุโมงค์ คือ พระยามังราย เพื่อเป็นที่จำพรรษาของพระกัสสปเถระกับพระสงฆ์ 4 รูป ที่พระองค์อัญเชิญมาจากสุโขทัยโดยสร้างเป็นวัดฝ่ายอรัญวาสี และเรียกชื่อวัดนี้ว่าวัดไผ่ 11 กอหรือวัดเวฬุกัฏฐาราม ที่เรียกว่า วัดไผ่ 11 กอ เนื่องจากวัดนี้สร้างอยู่ในบริเวณที่มีต้นไผ่ 11 กอ

          2. ในสมัยพระยากือนา พระองค์ได้โปรดให้บูรณะองค์เจดีย์และสร้างอุโมงค์ใหญ่หรือวิหารถ้ำขึ้นที่บริเวณฐานเจดีย์ด้านเหนือ คนทั่วไปจึงเรียกวัดนี้ว่า วัดอุโมงค์เถรจันทร์หรือวัดอุโมงค์วิหาร (ภานุพงศ์ เลาหสม, 2541: 14) ต่อมาวัดอุโมงค์ได้กลายเป็นวัดร้าง มีต้นไม้ขึ้นปกคลุมเต็มไปหมด ภายในวิหารถ้ำมีทั้งดินและทรายทับถมอยู่ทั่วไป

          3. ตั้งแต่ปี พ.ศ. 2491 เป็นต้นมา เจ้าชื่น สิโรรสและเพื่อนๆ ได้พากันมาแผ้วถางป่าและบูรณะวัดแห่งนี้ รวมทั้งได้อาราธนาท่านพุทธทาสภิกขุจากวัดสวนโมกขพลารามจากอำเภอไชยา จังหวัดสุราษฎร์ธานีขึ้นมาแสดงธรรมและจำพรรษาอยู่ที่วัดแห่งนี้ ซึ่งท่านพุทธทาสได้เดินทางมาแสดงธรรมที่วัดนี้เป็นเวลา 15 วัน แต่ไม่สามาถจำพรรษาอยู่ที่นี่นานได้ เพราะมีภาระที่จะต้องทำอีกมาก และรับปากว่าจะหาพระสงฆ์ขึ้นมาจำพรรษาที่วัดอุโมงค์ ปีต่อมาคือ ในปี พ.ศ. 2492 ท่านพุทธทาสได้ให้ ท่านปัญญานันทะภิกขุ ขึ้นมาประจำอยู่ที่นี่และถือว่าท่านเป็นเจ้าอาวาสองค์แรกของวัดนี้ และทำให้วัดอุโมงค์มีแนวทางธรรมคล้ายกับวัดสวนโมกขพลาราม การประกาศธรรมของท่านปัญญานันทะภิกขุทำโดยวิธีการแสดงปาฐกถาธรรมทุกวันอาทิตย์และวันพระ ณ ศาลาตองตึง กลางเมืองเชียงใหม่ รวมทั้งมีพระในคณะเดียวกันกับท่านปัญญานันทภิกขุได้จาริกไปปาฐกถาธรรมตามสถานที่ต่างๆ ทั้งในเมืองและนอกเมืองเชียงใหม่ และตามจังหวัดต่างๆ

          4. การตั้ง “ชาวพุทธมูลนิธิ” ซึ่งหมายถึง ขุมทรัพย์ของผู้นับถือพระพุทธศาสนาทุกคน โดยมีท่านปัญญานันทะภิกขุ เป็นประธานกรรมการ ผู้มีอุปการคุณอย่างสูงต่อชาวพุทธมูลนิธิ คือ เจ้าชื่น นาง สุริยฉาย สิโรรส และบุตรกับธิดาของท่าน ทั้งนี้เพราะทรัพย์สินที่ใช้ในการก่อตั้งชาวพุทธมูลนิธิ ในขั้นต้นเกือบทั้งหมดล้วนเป็นของครอบครัวสิโรรสทั้งสิ้น ไม่ว่าจะเป็น โรงพิมพ์ เครื่องพิมพ์ สำนักงาน เงินดำเนินงาน สิ่งก่อสร้าง อุปกรณ์ในการเผยแผ่ธรรมและที่ดินที่ปลูกสร้างโรงพิมพ์ เป็นต้น (พุทธนิคมเชียงใหม่, 2530: 8-9)

          ปัจจุบันวัดอุโมงค์เป็นส่วนหนึ่งของสวนพุทธธรรม กล่าวคือ เป็นสถานที่ส่งเสริมการปฏิบัติธรรมของศาสนิกชน สวนพุทธธรรมเป็นชื่อที่ท่าน ปัญญานันทะภิกขุ ประธานสงฆ์ของวัดอุโมงค์ (พ.ศ. 2492 – 2509) เป็นผู้ตั้งขึ้น ภายในวัดมีพระภิกษุ แม่ชี อุบาสก และอุบาสิกา อาศัยอยู่เพื่อศึกษาและปฏิบัติธรรม บริเวณวัดเต็มไปด้วยต้นไม้ใหญ่ทำให้บริเวณวัดมีความร่มรื่นตลอดทั้งวัน เหมาะกับการศึกษาและปฏิบัติธรรมของคนทั่วไป นอกจากนั้นที่นี่ยังมีแหล่งเรียนรู้อยู่มากมาย เช่น หอธรรมโฆษซึ่งเป็นคล้ายกับห้องสมุดที่เต็มไปด้วยหนังสือเกี่ยวกับพุทธศาสนาไว้ให้ผู้สนใจได้ค้นคว้า ร้านขายหนังสือธรรม ภาพการ์ตูนที่เล่าถึงผลแห่งการทำบาปในรูปแบบต่างๆ ซึ่งน่ากลัวมาก บางคนเห็นแล้วอาจจะไม่กล้าทำบาปอีกต่อไป รวมทั้งต้นไม้พูดได้ (แบบไม่มีเสียง) ด้วยการนำคติธรรมและคำสอนมาติดไว้ตามต้นไม้ เช่น ไม้อ่อนดัดง่าย เด็กอ่อนสอนง่าย ความดีมีค่ากว่าปริญญา คนตาบอดที่สุดคือคนที่ไม่ยอมมอง และ มารสังคมล้วนแต่มารยาทดี เป็นต้น การนำคติธรรมและคำสอนมาติดไว้ตามต้นไม้ นับเป็นการเผยแผ่คติธรรมในพุทธศาสนาที่ชาญฉลาดและแยบยลมาก นอกจากนั้นวัดอุโมงค์ยังเป็นสถานที่พักผ่อนที่ดีมาก เนื่องจากความมีร่มรื่นและมีสถานที่ๆ ให้ความเพลิดเพลินอยู่หลายแห่ง เช่น สระนาฬิเกร์เลี้ยงปลาขนาดใหญ่ และสวนสัตว์เปิดด้านหลังของวัด ประเพณีที่ถือเป็นประเพณีประจำของวัดคือ ประเพณีวันบุญเดือนสิบหรือประเพณีชิงเปรต ซึ่งเป็นประเพณีที่มีชื่อเสียงมากของชาวใต้ วัดอุโมงค์ได้จัดประเพณีนี้เป็นประจำในราวๆ เดือนตุลาคมของทุกปี มีชาวใต้ที่อยู่ในเชียงใหม่มาร่วมกันทำบุญอุทิศส่วนกุศลให้กับผีบรรพบุรุษและผีไม่มีญาติที่ไม่มีผู้ใดทำบุญให้ ผู้ที่มาทำบุญต่างนำอาหารมาแลกเปลี่ยนกัน ร้านอาหารปักษ์ใต้ส่วนใหญ่จะนำอาหารมาจ่ายแจกให้กับบุคคลที่เดินทางมาทำบุญ ซึ่งเป็นทั้งการทำบุญและถือโอกาสโฆษณาร้านของตนเองไปด้วย ดูจากประเพณีนี้แล้ว ทำให้เห็นว่ามีคนภาคใต้ย้ายถิ่นมาทำมาหากินที่เชียงใหม่อยู่ไม่น้อยทีเดียว

          สิ่งที่น่าสนใจของวัดแห่งนี้ ประกอบด้วย

          1. องค์เจดีย์วัดอุโมงค์ (สวนพุทธธรรม) เจดีย์ทรงระฆังคว่ำแบบลังกา

          2. วิหารถ้ำ สถานที่ทำวิปัสสนาของพระสงฆ์

          3. ภาพจิตรกรรมในห้องกรุเจดีย์ : จิตรกรรมอดีตพุทธเจ้า

          4. ภาพจิตรกรรมในวิหารถ้ำ : จิตรกรรมลายเครือล้านนา

รายการอ้างอิง

พุทธนิคมเชียงใหม่. (2530). ประวัติวัดอุโมงค์ (สวนพุทธธรรม). เชียงใหม่: กลางเวียงการพิมพ์.

ภานุพงศ์ เลาหสม. (2541). จิตรกรรมฝาผนังล้านนา. กรุงเทพฯ: เมืองโบราณ.

Rate this post

Leave a Reply

Your email address will not be published. Required fields are marked *