May 19, 2024

อาคารบุญสม มาร์ติน: การดำเนินงานการก่อสร้างอาคารโรงเรียนแพทย์

          คณะแพทยศาสตร์ มหาวิทยาลัยเชียงใหม่ เป็นโรงเรียนแพทย์แห่งที่สามของประเทศไทย และเป็นโรงเรียนแพทย์ในส่วนภูมิภาคแห่งแรก สถานที่ตั้งปัจจุบันคือ เลขที่ ๑๑๐ ถนนอินทวโรรส ตำบลศรีภูมิ อำเภอเมือง จังหวัดเชียงใหม่ มีเนื้อที่ประมาณ ๒๗๖ ไร่ มุมทิศตะวันออกเฉียงใต้ จดประตูสวนดอก

          การดำเนินงานเกี่ยวกับสถานที่ศึกษา รัฐบาลได้ตั้งงบประมาณค่าจัดซื้อที่ดินเป็นจำนวนเงิน ๓ ล้านบาท จากเงิน ก.ศ.ส. (อากรแสตมป์การกุศลเพื่อการศึกษาและสาธารณสุข) ได้มีการลงนามทำสัญญาความตกลงกับองค์การบริหารวิเทศกิจขอสหรัฐอเมริกา และได้เสนอกระทรวงการคลังเพื่อขอผูกพันงบประมาณปีต่อๆ ไป ซึ่งคณะรัฐมนตรีอนุมัติให้ทำข้อผูกพันได้เมื่อ วันที่ ๑ พฤษภาคม พ.ศ. ๒๕๐๐ กระทรวงสาธารณสุขได้แต่งตั้งคณะกรรมการพิจารณาจัดซื้อที่ดิน ซึ่งมีผู้เสนอขายในวันที่ ๒๑ ตุลาคม พ.ศ. ๒๕๐๐ โดยวางหลักสำคัญในการพิจารณาเลือกสถานที่ไว้ ๕ ประการ คือ มีการคมนาคมสะดวกใกล้ชุมชน มีน้ำใช้บริบูรณ์ตลอดปี มีไฟฟ้าไปถึงและเพียงพอ น้ำไม่ท่วม และมีโอกาสขยายสถานที่ได้ต่อไปในอนาคต การพิจารณาซื้อที่ดินค่อนข้างมีปัญหา อุปสรรคมากมายและใช้เวลานานปี ในที่สุดก็ได้ตัดสินใจซื้อที่ดินบริเวณใกล้เคียงโรงพยาบาลนครเชียงใหม่

          และในเดือนมิถุนายน พ.ศ. ๒๕๐๑ มหาวิทยาลัยแพทยศาสตร์ ได้แต่งตั้งคณะกรรมการดำเนินงานวางแผนสร้างคณะแพทยศาสตร์ โรงพยาบาลนครเชียงใหม่ขึ้น และลงความเห็นให้บริษัท Litchfield Whiting Brownes Associated ออกแบบแปลนอาคารใหญ่ของโรงเรียนและโรงพยาบาลคณะแพทยศาสตร์ และลงนามทำสัญญากับบริษัทเมื่อเดือนพฤษภาคม พ.ศ. ๒๕๐๒

          ในเดือนมิถุนายน พ.ศ. ๒๕๐๑ ได้เริ่มรับนักศึกษาเตรียมแพทย์เชียงใหม่ขึ้น ที่คณะวิทยาศาสตร์การแพทย์ มหาวิทยาลัยแพทยศาสตร์ ในกรุงเทพฯ เป็นรุ่นแรกจำนวน ๖๕ คน เมื่อวันที่ ๑ มกราคม พ.ศ. ๒๕๐๒ ได้โอนโรงพยาบาลนครเชียงใหม่ของกระทรวงสาธารณสุข มาสังกัดมหาวิทยาลัยแพทยศาสตร์ และได้ดัดแปลงอาคารโรงเรียนผดุงครรภ์เก่า ซึ่งได้รับโอนจากกรมอนามัย เพื่อใช้เป็นสถานศึกษาสำหรับนักศึกษาแพทย์รุ่นแรก แต่การซ่อมแซมกระทำไม่ทันกำหนดเปิดการศึกษา จึงต้องฝากนักศึกษาให้เรียนชั้นปีที่ ๑ ที่คณะวิทยาศาสตร์การแพทย์ เป็นเวลา ๒ เทอม และได้ย้ายนักศึกษาขึ้นไปที่จังหวัดเชียงใหม่ทั้งหมด เมื่อวันที่ ๓๑ ธันวาคม พ.ศ. ๒๕๐๓

          ในช่วงเวลาเดียวกัน เมื่อได้แบบขั้นแรกมาแล้ว คณะกรรมการดำเนินการวางแผนฯ ได้ปรึกษาหัวหน้าแผนกต่างๆ ของคณะแพทยศาสตร์และศิริราชพยาบาล ซึ่งได้มีการแก้ไขกันเล็กน้อย เมื่อรวบรวมเสร็จและส่งให้บริษัทเพื่อเขียนให้สมบูรณ์แบบเป็นขั้นสุดท้ายแล้ว ก็ได้เริ่มการก่อสร้างฐานรากเป็นขั้นแรก ในปี พ.ศ. ๒๕๐๓ โดยมีบริษัทยุกตเสวีการช่างเป็นสถาปนิกฝ่ายไทยร่วมด้วย การวางศิลาฤกษ์ได้กระทำเมื่อวันที่ ๑๗ มิถุนายน ๒๕๐๔ โดยจอมพลสฤษดิ์ ธนะรัชต์ นายกรัฐมนตรี ซึ่งขณะนั้นดำรงตำแหน่งนายกสภาการศึกษาแห่งชาติเป็นประธาน

          เดือนตุลาคม พ.ศ. ๒๕๐๖ มีการประกวดราคาการก่อสร้างตัวอาคารบนฐานราก ซึ่งได้ก่อสร้างเสร็จเรียบร้อยแล้ว ในขั้นต้นจะทำเพียง ๓ ชั้น และมีความกว้างยาวคงเดิม (กว้าง ๒๘๐ เมตร ยาว ๙๐ เมตร) ประมาณราคาไม่ต่ำกว่า ๕๗ ล้านบาท เหตุผลที่ต้องก่อสร้างเพียง ๓ ชั้นก่อนนั้น เนื่องจากเงินงบประมาณของฝ่ายไทยขัดข้อง และองค์การบริหารวิเทศกิจของสหรัฐอเมริกาไม่สามารถจ่ายฝ่ายเดียวตลอดไปได้ ปัญหาสำคัญขณะนั้นคือ การเปลี่ยนแปลงโครงสร้างอาคาร ๗ ชั้น มาเป็น ๓ ชั้น ได้มีการย่อส่วนให้สามารถอัดกันเข้าไปได้ด้วย มิใช่ว่าจะทำ ๓ ชั้นตามแบบเดิม แล้วรอไว้ต่อเติมอีกภายหลัง ดังนั้นจึงต้องเปลี่ยนแปลงแบบแปลนใหม่เกือบทั้งหมด เป็นเรื่องยุ่งยากและใช้เวลานานมาก ประจวบกับสถาปนิกที่ออกแบบตั้งแต่ต้นได้ถึงแก่กรรม ผู้ที่รับทำให้จึงต้องศึกษาและสำรวจงานใหม่ทั้งหมด

          จนกระทั่งวันที่ ๒๖ กุมภาพันธ์ พ.ศ. ๒๕๐๘ จึงมีการลงนามในสัญญาก่อสร้างอาคารใหญ่ ๓ ชั้น โดยบริษัทพระนครก่อสร้างเป็นผู้ประมูลได้ และเริ่มลงมือก่อสร้างในวันที่ ๑๒ มีนาคม ๒๕๐๘ มีกำหนดแล้วเสร็จใน ๗๒๐ วัน นับเป็นเวลาเกือบห้าปีหลังจากที่ลงฐานรากไว้แล้ว จึงได้มีการก่อสร้างตัวอาคารอย่างจริงจัง การก่อสร้างดำเนินไปได้ระยะหนึ่ง ศาสตราจารย์นายแพทย์บุญสม มาร์ติน คณบดีคณะแพทยศาสตร์ในขณะนั้น ได้เสนอรัฐบาลให้อนุมัติการก่อสร้างอาคารกลับเป็น ๗ ชั้น ตามที่วางแผนไว้แต่เดิม อย่างไรก็ตาม ความขัดข้องสำคัญอยู่ที่การของบประมาณเพิ่มเติม ซึ่งองค์การบริหารวิเทศกิจของสหรัฐอเมริกาไม่สามารถจ่ายเงินเพิ่มได้อีก แต่จะช่วยด้านอื่น เช่น ส่งสถาปนิกและวิศกรมาคุมงานให้ สำหรับเงินค่าก่อสร้างที่จะต้องเพิ่มเติมต่อเป็นอาคาร ๗ ชั้นนั้น กรมโยธาธิการประมาณไว้ ๓๑ ล้านบาท ปัญหาที่ตามมาอีกประการหนึ่ง คือ รากฐานของอาคารที่เตรียมไว้ตั้งแต่ พ.ศ. ๒๕๐๓ อาจจะรับน้ำหนักอาคาร ๗ ชั้นไม่ได้ จึงต้องทำการสำรวจใหม่อย่างละเอียดใน พ.ศ. ๒๕๐๙ ซึ่งปรากฎว่า ฐานรากบางส่วนชำรุด ต้องทำการซ่อมแซมใหม่

          ในเดือนมกราคม พ.ศ. ๒๕๐๙ รัฐบาลอนุมัติให้ดำเนินการก่อสร้างต่อเติมเป็นอาคาร ๗ ชั้น และบริษัทพระนครก่อสร้างเป็นผู้ประกวดราคาได้ นับแต่นั้นมา การสร้างจึงดำเนินไปด้วยความเรียบร้อยและรวดเร็วพอสมควร รวมระยะเวลาของการก่อสร้าง ต้งแต่วางศิลาฤกษ์ จนได้รับมอบงานเมื่อวันที่ ๒๓ กรกฎาคม พ.ศ. ๒๕๑๒ เป็นเวลาแปดปีเศษ อาคารหลังนี้ยังคงใช้เป็นสถานที่สอนและบริการผู้ป่วยอยู่จนถึงปัจจุบัน

รายการอ้างอิง

มหาวิทยาลัยเชียงใหม่. คณะแพทยศาสตร์. (๒๕๒๕). ๒๕ ปี แพทยศาสตร์เชียงใหม่. เชียงใหม่ : มหาวิทยาลัย.

Rate this post

Leave a Reply

Your email address will not be published. Required fields are marked *