May 19, 2024

จากกองห้องสมุด มาเป็น สำนักหอสมุด มหาวิทยาลัยเชียงใหม่

          ฯพณฯ หม่อมหลวงปิ่น มาลากุล ผู้ก่อตั้งมหาวิทยาลัยเชียงใหม่ ได้นิพนธ์ในช่วงการก่อตั้งมหาวิทยาลัยเชียงให่ไว้ว่า “… ตึกหอสมุดกลางนั้นจำเป็นอย่างยิ่ง และจะต้องให้ใหญ่มากพอควร เพราะมหาวิทยาลัยในส่วนภูมิภาคไม่สามารถพึ่งหอสมุดนอกมหาวิทยาลัยได้เช่นในพระนครและธนบุรี หอสมุดกลางนี้จำเป็นจะต้องอยู่ตรงกลางบริเวณมหาวิทยาลัย มีถนนไปได้หลายทาง เพื่อให้นิสิตที่อยู่โดยรอบมาได้สะดวก…” (ม.ล.ปิ่น มาลากุล, ๒๕๐๕, ๑๘-๑๙) สะท้อนวิสัยทัศน์ที่ยาวไกลของท่านในการกำหนดที่ตั้งอาคารห้องสมุด และยังได้กำหนดให้ห้องสมุดอยู่ในแผนงานการจัดตั้งมหาวิทยาลัยเชียงใหม่ตั้งแต่เริ่มแรก ดังนั้นวันที่มหาวิทยาลัยเชียงใหม่เปิดดำเนินการจึงเป็นวันเปิดให้บริการห้อสมุดด้วยเช่นกัน นั่นคือวันที่ ๑๙ มิถุนายน ๒๕๐๗ ซึ่งในขณะนั้นใช้อาคารเรียนตึกเคมีห้อง ๒๑๓ ๓๑๑ และ ๓๑๒ พื้นที่ ๓๗๕ ตารางเมตร คณะวิทยาศาสตร์ เป็นห้องสมุดชั่วคราว

          ต่อมาได้ย้ายมาอยู่อาคารเอกเทศ เมื่อวันที่ ๑๕ สิงหาคม พ. ศ. ๒๕๑๑ ใช้ชื่อว่า “ห้องสมุดกลาง มหาวิทยาลัยเชียงใหม่” ตั้งอยู่ระหว่างคณะสังคมศาสตร์และสโมสรนักศึกษาเดิม เป็นอาคารคอนกรีตเสริมเหล็กชั้นเดียว พื้นที่ ๓,๖๘๔ ตารางเมตร ลักษณะอาคารเป็นรูปแปดเหลี่ยม ๔ รูป ติดต่อเรียกว่า รูปไฮเปอร์โบลิค พาราโบลอยด์ (Hyperbolic Paraboloid) ตัวอาคารมีกระจกทึบทุกด้าน ภายในติดตั้งเครื่องปรับอากาศ ขณะนั้นมหาวิทยาลัยเชียงใหมีกาเรียนการสอน ๕๑ สาขาวิชา มีอาจารย์ ๓๕๐ คน และนักศึกษา ๓,๒๘๑ คน

          การบริหารงานห้องสมุดในระยะแรกมีฐานะเป็นกองห้องสมุด สังกัดสำนักงานอธิการบดี หัวหน้ากองห้องสมุดคนแรกคือ ผู้ช่วยศาสตราจารย์วิไล ปานพลอย การบริหารงานในขณะนั้น นอกจากงานที่เกี่ยวข้องกับห้องสมุดแล้ว ยังมีภาระงานอื่นอีก เช่น งานสอนการใช้ห้องสมุดให้กับนักศึกษา ๒ คณะ คือ คณะมนุษยศาสตร์ และคณะศึกษาศาสตร์ งานประชาสัมพันธ์ของมหาวิทยาลัย ทำหน้าที่จัดทำข่าว มช.ปริทรรศน์ ตัดข่าวกิจกรรมที่เกี่ยวข้องกับมหาวิทยาลัยเสนออธิการบดี ต้อนรับอาคันตุกะที่มาเยี่ยมชมมหาวิทยาลัยเชียงใหม่ รวมทั้งเป็นศูนย์รับโทรศัพท์ของมหาวิทยาลัยอีกด้วย การทำงานในช่วงเวลานี้นับเป็นยุคบุกเบิกงานห้องสมุด และงานประชาสัมพันธ์ของมหาวิทยาลัย

          เมื่อเวลาผ่านไป มหาวิทยาลัยเชียงใหม่เติบโตอย่างรวดเร็ว อาคารห้องสมุดเริ่มคับแคบลง ห้องสมุดจำเป็นต้องพัฒนาตนเองเพื่อเป็นแหล่งค้นคว้าทางวิชาการของมหาวิทยาลัยและชุมชนในภาคเหนือ ดังนั้นหัวหน้ากองห้องสมุดในขณะนั้น คือ ผู้ช่วยศาสตราจารย์สุภาพ สุจินดา ได้เสนอโครงการผลักดันให้ยกฐานะห้องสมุกกลาง กองห้องสมุด เป็น สำนักหอสมุด ในปี พ.ศ. ๒๕๑๙ จึงได้รับอนุมัติให้สร้างอาคารหลังใหม่สูง ๕ ชั้น มีพื้นที่ ๘,๔๓๐ ตารางเมตร มหาวิทยาลัยเชียงใหม่ได้กราบบังคมทูลเชิญ สมเด็จพระเทพรัตนราชสุดา สยามบรมราชกุมารี เสด็จพระราชดำเนินมาทรงเป็นประธานในพิธีเปิดอาคารสำนักหอสมุดในวันที่ ๙ กุมภาพันธ์ พ.ศ. ๒๕๒๓ นับได้ว่าผู้ช่วยศาสตราจารย์สุภาพ สุจินดา เป็นผู้ที่มีบทบาทสำคัญในการเปลี่ยนแปลงระบบบริหารงานของสำนักหอสมุดและการได้มาซึ่งอาคารหลังใหม่ รวมทั้งยังเป็นบุคคลแรกที่ได้ตำแหน่งผู้อำนวยการสำนักหอสมุดอีกด้วย

           ที่ประชุมอธิการบดีครั้งที่ ๕๓/๒๕๑๙ เมื่อวันที่ ๑๕ ธันวาคม พ.ศ. ๒๕๑๙ ได้มีมติให้สำนักหอสมุดจัดระบบการบริหารงานแบบศูนย์รวม (Centralization) โดยรวมงานบริหารห้องสมุดส่วนกลางและห้องสมุดคณะไว้ด้วยกัน และให้โอนบุคลากรมารวมไว้ที่สำนักหอสมุด แต่ข้อกำหนดในพระราชบัญญัติมหาวิทยาลัยเชียงใหม่ พ.ศ. ๒๕๑๒ ยังมิได้ระบุให้มีการแบ่งส่วนราชการภายในสำนักหอสมุด จึงไม่สามารถรวมบุคลากรมาไว้ที่ส่วนกลางได้ จนกระทั่ง พ.ศ. ๒๕๓๓ ในช่วงสมัยของ อาจารย์ ดร. ม.ร.ว.รุจยา อาภากร เป็นผู้อำนวยการสำนักหอสมุดได้รับอนุมัติให้แบ่งส่วนราชการเป็น เป็น ๖ ฝ่าย ตามประกาศในราชกิจจานุเบกษา เล่มที่ ๑๐๗ ตอนที่ ๑๖๗ วันที่ ๖ กันยายน พ.ศ. ๒๕๓๓ จึงสามารถโอนบุคลากรมารวมที่ส่วนกลางได้

          ต่อมาใน ปี พ.ศ. ๒๕๔๐ อาคารห้องสมุดกลางเริ่มคับแคบลงอีก มีผู้เข้าใช้ห้องสมุดเฉลี่ยวันละประมาณ ๓,๐๐๐ คน และสำนักหอสมุดมีนโยบายขยายรูปแบบการให้บริการที่ทันสมัยโดยมีเป้าหมายพัฒนาเป็นห้องสมุดอิเล็กทรอนิกส์ (e-Library) จึงต่อเติมขยายพื้นที่อีก ๖,๙๔๔ ตารางเมตร และได้เปิดให้บริการในส่วนที่ต่อเติมใหม่ในวันที่ ๔ มิถุนายน พ.ศ. ๒๕๔๔ ปัจจุบันจึงมีพื้นที่รวมทั้งสิ้น ๑๕,๗๖๘ ตารางเมตร มีที่นั่งอ่านประมาณ ๑,๕๗๗ ที่นั่ง ทำหน้าที่เป็นแหล่งสารสนเทศที่ดีที่สุดของมหาวิทยาลัยเชียงใหม่ และชุมชนในภาคเหนือ

          ในปี พ.ศ. ๒๕๕๑ มหาวิทยาลัยเชียงใหม่ได้เปลี่ยนสถานะเป็นมหาวิทยาลัยในกำกับ สำนักหอสมุดจึงมีการแบ่งหน่วยงานใหม่ ตามประกาศมหาวิทยาลัยเชียงใหม่ เรื่อง การแบ่งหน่วยงานภายในส่วนงานวิชาการและส่วนงานอื่น (ฉบับที่ ๒) ลงวันที่ ๒๘ กุมภาพันธ์ ๒๕๕๒ แบ่งส่วนราชการเป็น ๖ ฝ่าย ส่วนการบริหารงานได้ดำเนินการตามแผนพัฒนาการศึกษาสำนักหอสมุด มหาวิทยาลัยเชียงใหม่ ระยะที่ ๑๐ (พ.ศ. ๒๕๕๐-๒๕๕๔) และแนวทางการพัฒนาสำนักหอสมุด โดยมีเป้าหมายการดำเนินงาน ๗ ด้าน คือ การบริการเป็นเลิศ (Best practice) ห้องสมุดเพื่อการวิจัย (Research Library) ศูนย์ทรัพยากรการเรียนรู้ (Resources Center) ศูนย์การเรียนรู้ด้วยตนเอง (Learning Center) องค์กรแห่งการเรียนรู้ (Learning Organization) ห้องสมุดที่มีชีวิต (Living Library) และบุคลากรมีคุณภาพและมีความสุข (Happy Staff) ทั้งนี้ เพื่อสนับสนุนการเป็นมหาวิทยาลัยชั้นนำ และมหาวิทยาลัยแห่งความเป็นเลิศของมหาวิทยาลัยเชียงใหม่ (CMU: University of Excellence) ต่อไป

รายการอ้างอิง

มหาวิทยาลัยเชียงใหม่. สำนักหอสมุด. (๒๕๕๔). ๔๗ ปี แห่งความมุ่งมั่นพัฒนาบริการที่เป็นเลิศ วันสถาปนาสำนักหอสมุด มหาวิทยาลัยเชียงใหม่. เชียงใหม่: มหาวิทยาลัย.

Rate this post

Leave a Reply

Your email address will not be published. Required fields are marked *