May 3, 2024

            เผ่าตองเหลือง เป็นชื่อของชนเผ่าหนึ่งที่มีลักษณะเป็นคนป่า มักร่อนเร่อยู่ตามป่าลึก โดยเรียกตามวัสดุที่ใช้มุงหลังคาคือ ใบตอง เมื่อใบไม้ใบตองที่มุงหลังคาหรือทำเป็นซุ้ม เปลี่ยนเป็นสีเหลืองแล้ว คนเหล่านี้ก็จะย้ายไปอยู่ที่อื่นต่อไป

             Dr. H. Bernatzik ชาวออสเตรียได้ทำการสำรวจพบเผ่าตองเหลือง เมื่อ พ.ศ.2479 ในดงทึบเขตจังหวัดน่าน คนกลุ่มนี้เรียกตัวเองว่า  “ยำบรี” สันนิษฐานว่าเป็นพวกเดียวกับเผ่าตองเหลืองที่คณะสำรวจของสยามสมาคม ซึ่งมีนายไกรศรี นิมมานเหมินท์เป็นหัวหน้า ค้นพบเมื่อวันที่ 10 สิงหาคม พ.ศ. 2505 และในการสำรวจครั้งนี้ มีนายบุญเสริม สาตราภัย ผู้สื่อข่าวหนังสือพิมพ์คนเมืองเดินทางไปสำรวจในครั้งนี้ด้วย นับเป็นช่างภาพกลุ่มแรกที่ถ่ายภาพเผ่าตองเหลือง และได้การเขียนสารคดีเรื่อง ผีตองเหลือง สารคดีเรื่องนี้ ได้รับรางวัลชนะเลิศประเภทสารคดีประจำปี พ.ศ. 2505 จากมูลนิธิวิชาการหนังสือพิมพ์แห่งประเทศไทย

             การเรียกชื่อตนเองของเผ่าตองเหลืองนั้น นายไกรศรี นิมมานเหมินท์ กล่าวว่าชนกลุ่มนี้เรียกตนเองว่า  “มระบรี” ทำเพิงอาศัยอยู่ที่ริมห้วยน้ำทา ทางตะวันตกเฉียงใต้ของจังหวัดน่าน ก่อนนี้ Mr.Oliver Gordon Young รายงานว่าชาวแม้วและชาวมูเซอที่ดอยเวียงผา อำเภอพร้าว จังหวัดเชียงใหม่ ได้พบเผ่าตองเหลืองในเขตของตนและว่าพวกนี้พูดภาษาว้ากับเรียกตนเองว่า  “โพล” การที่เรียกตัวเองว่า  “มระบรี-มราบรี” เพราะคำนี้แปลว่าคนป่า  “มรา” แปลว่า คน  “บรี” แปลว่า ป่า

            กล่าวกันว่า ตองเหลือง เป็นชนเผ่าหนึ่งที่มีถิ่นฐานเดิมอยู่ในเขตจังหวัดไซยะบุรี ประเทศลาว ปัจจุบันอาศัยอยู่ตามภาคเหนือของประเทศไทย อาทิ อำเภอเมือง อำเภอร้องกวาง อำเภอสอง จังหวัดแพร่ และอำเภอสา จังหวัดน่าน ถิ่นที่อยู่ของตองเหลือง มักจะเป็นเขตชุ่มชื้น ตามความลาดของไหล่เขา อยู่สูงจากระดับน้ำทะเลราวๆ 3,000 ฟุตขึ้นไป และตั้งที่พักใกล้แหล่งน้ำเพื่อประโยชน์ในการอุปโภคบริโภคตลอดจนสามารถหากุ้ง ปลา และสัตว์น้ำต่างๆ มาประกอบเป็นอาหารได้

             สำหรับรูปร่างลักษณะของเผ่าตองเหลือง คือ รูปร่างเล็กแต่แข็งแรง บ้างว่าเหมือนคนทางภาคเหนือของประเทศไทยแต่ผิวคล้ำกว่า เครื่องนุ่งห่มมีแต่ผ้าเตี่ยวผืนเดียวและผ้านุ่งนี้จะใช้ก็ต่อเมื่อจำเป็นต้องเข้ามาในหมู่บ้านเพื่อเอาของป่ามาแลกกับข้าวสาร เกลือและของใช้ที่จำเป็น เช่น มีดหรือหอกเท่านั้น

             ชาวเผ่าตองเหลือง มีความเชื่อคล้ายกับชาวเขาเผ่าอื่นๆ ซึ่งเกี่ยวกับสิ่งลึกลับ เช่น ภูตผีปิศาจ และวิญญาณต่างๆ โดยเชื่อว่าสิ่งเหล่านี้มีอำนาจเหนือวิถีชิวิตของพวกเขา จึงมีการเซ่นบวงสรวงสิ่งต่างๆ เมื่อเจ็บไข้ได้ป่วย อนึ่ง ในคืนวันที่พระจันทร์เต็มดวง ตองเหลือง จะทำพิธีถวายเครื่องเซ่นแก่ผีทั้งหลายที่พวกเขานับถือ แล้วจะมีงานรื่นเริง พวกเขาจะเต้นรำไปรอบๆ หอกประจำตัวของแต่ละคนที่นำมาตั้งรวมกันไว้กลางวง การเต้นรำของพวกเขาเป็นเพียงการเดินโยกตัวไปมารอบๆ วง พร้อมกับพลิกมือไปมา ขณะที่โยกตัวก็จะมีการพึมพำเนื้อเพลงไปด้วย สำหรับเนื้อเพลงก็คล้ายกับเพลงของพวกโยนกโบราณ คนที่ไม่ร่วมเต้นรำก็จะล้อมวงปรมมือให้จังหวะ เมื่อดึกมากเข้า จึงแยกย้ายกันไปนอนหลับ

             นอกจากนี้ ตองเหลือง ยังได้รับการปลูกฝังจากบรรพชนมาเป็นเวลาช้านานว่า หากอยู่เป็นหลักแหล่งโดยไม่โยกย้ายไปไหน ผีร้ายจะส่งเสือให้มาคร่าทำลายพวกเขา จึงต้องย้ายที่อยู่เกือบทุก 5-10 วัน ซึ่งการปฏิบัติตามความเชื่อนี้ สอดคล้องกับหลักความสมดุลและหลักทางวิชาการบางประการ นั่นคือ อาหารที่มีอยู่รอบบริเวณที่พักลดน้อยลง ก็จะย้ายไปหาที่อยู่แห่งใหม่ที่มีความอุดมสมบูรณ์มากว่า

            ลักษณะเพิงที่พักของชนเผ่าตองเหลือง คล้ายกับเพิงหมาแหงน แต่ภายในไม่มีการยกพื้นและปลูกแคร่คร่อมดินเหมือนเพิงหมาแหงนโดยทั่วไป ท้ายเพิงมักจะสูงกว่าหน้าเพิงพักใช้พื้นดินเป็นพื้นเพิงและนำหญ้าฟางแห้งหรือใบตองมาปูบนพื้น เวลานอนจะไม่หนุนหมอน แต่ตะแคงหูแนบพื้น เพื่อให้สามารถได้ยินฝีเท้าคนหรือสัตว์ที่เข้ามาใกล้เพิงพักได้ พวกผู้หญิงและเด็กจะอยู่ในกระท่อมที่สร้างบนภูเขาสูง เมื่อพวกผู้ชายไปล่าสัตว์หาของป่าหรืออาหารได้เพียงพอแล้ว จึงจะกลับไปหาลูกเมียเสียครั้งหนึ่ง

             ด้านสุขนิสัยนั้นตองเหลืองมักจะขับถ่ายตามสุมทุมพุ่มไม้รอบเพิงพัก เมื่อเกิดโรคระบาดจึงสามารถแพร่เชื้อได้อย่างรวดเร็ว การย้ายแหล่งที่อยู่อาศัยไปยังแห่งใหม่จึงช่วยบรรเทาการระบาดของโรคได้ ในการย้ายที่อยู่จะเริ่มตั้งแต่เช้าตรู่ เมื่อพระอาทิตย์โผล่พ้นขอบฟ้า และจะหยุดสร้างที่พักก่อนตะวันจะลับฟ้าด้วยเกรงว่าจะเกิดอันตรายจากการเดินทางและสัตว์ป่าต่างๆ

             ในกรณีที่สมาชิกคนหนึ่งคนใดเสียชีวิต ญาติพี่น้องจะช่วยกันทำศพ โดยนำศพไปวางบนแคร่ที่สร้างไว้บนต้นไม้ใหญ่เพื่อป้องกันสัตว์ร้าย เช่น เสือมาขุดคุ้ยกินศพ เพราะเชื่อว่า ถ้าเสือได้กินศพแล้วอาจติดใจและจำกลิ่นเนื้อคนได้ ต่อมาพบว่ามีการฝังศพแทนการทิ้งศพดังกล่าว และภายหลังจากการฝังศพแล้วจะโยกย้ายที่อยู่อาศัยทันที ไม่ว่าจะเป็นช่วงเวลาไหนของวันก็ตาม การสร้างที่พักจึงเป็นแบบเพิงชั่วคราว เนื่องจากมีการเคลื่อนย้ายที่อยู่บ่อยๆ นั่นเอง
             ธรรมเนียมอย่างหนึ่งของเผ่าตองเหลืองคือ ชายหญิงทุกคนต้องเจาะหูทั้งสองข้างตั้งแต่เด็ก รูหูที่เจาะมีขนาดประมาณ 0.5 -1.0 เซนติเมตร โดยใช้ไม้ไผ่เหลากลมปลายแหลมแทงลงไปบนเนื้ออ่อนบริเวณติ่งหู สมัยก่อนมักจะนำดอกไม้มาเสียบไว้ในรูหูเพื่อเป็นการประดับร่างกาย แต่ในปัจจุบันเมื่อติดต่อกับชนเผ่าอื่นๆ เช่น ม้งหรือเย้า ทำให้ธรรมเนียมนี้ลดความนิยมลงไป แต่ก็ยังมีปรากฏให้เห็นบ้างประปราย
             แม้ว่าชนกลุ่มน้อยเผ่าอื่นจะรับเอาความเจริญจากสังคมพื้นราบเข้าไป ทำให้เกิดการเปลี่ยนแปลงทางวัฒนธรรมตลอดจนวิถีความเป็นอยู่ต่างๆ แต่สำหรับ เผ่าตองเหลือง การเปลี่ยนแปลงยังคงมีน้อย สามารถรักษาวิถีชีวิตแบบเก่าๆ ไว้ได้ ทั้งนี้อาจเป็นเพราะการย้ายที่อยู่บ่อย จึงไม่ค่อยได้สมาคมกับคนภายนอกเผ่า อีกทั้งอิทธิพลความเชื่อถือที่ยึดมั่นมาตั้งแต่ครั้งอดีตยังฝังอยู่ในจิตใจของชนกลุ่มนี้อย่างเหนียวแน่น ปัจจุบันนี้ ประมาณกันว่าจำนวนของเผ่าตองเหลือง ในประเทศไทยมีไม่เกิน 150 คน จึงนับว่าพวกเขาเป็นชนกลุ่มน้อยที่มีจำนวนน้อยที่สุดในประเทศ

รายการอ้างอิง

บุปผา คุณยศยิ่ง และวิลักษณ์ ศรีป่าซาง. (2542). ผีตองเหลือง. ใน สารานุกรมวัฒนธรรมไทยภาคเหนือ (เล่ม 8, หน้า 4116-4118). กรุงเทพฯ: มูลนิธิสารานุกรมวัฒนธรรมไทย ธนาคารไทยพาณิชย์.

Rate this post

Leave a Reply

Your email address will not be published. Required fields are marked *