May 3, 2024

          คนเชียงใหม่เรียก “แม่น้ำ” ไม่เหมือนทางภาคกลาง โดยเรียกกลับกันว่า “น้ำแม่” อย่าง “แม่น้ำปิง” ที่คนเมืองเรียกว่า “น้ำแม่ปิง” เป็นแม่น้ำสายสำคัญ เป็นแม่น้ำสายหลักของเชียงใหม่ มีต้นน้ำอยู่ที่ภูเขาในตำบลนาหวาย อำเภอเชียงดาว จังหวัดเชียงใหม่ ไหลลงใต้ผ่านอำเภอแม่แตง อำเภอแม่ริม อำเภอสันทราย อะเภอเมืองเชียงใหม่ อำเภอหางดง อำเภอสารภี จังหวังเกชียงใหม่ และไหลผ่านตำบลริมปิง อำเภอเมืองลำพูน อำเภอป่าซาง อำเภอบ้านโฮ่ง จังหวัดลำพูน แล้วไหลวกเข้าเขตจังหวัดเชียงใหม่ ในอำเภอจอมทอง อำเภอฮอด อำเภอดอยเต่าแล้วไปออกที่ตำบลก้อ อำเภอลี้ จังหวัดลำพูน กลายเป็นส่วนหนึ่งของอ่างเก็บน้ำเหนือขื่นภูมิพล ที่น่าสังเกตอีกอย่างคือ บางช่วงของแม่น้ำปิงมีการเปลี่ยนทางเดินเกิดเป็นลำน้ำอีกสายบริเวณตำบลอุโมงค์ อำเภอเมือง เรียกว่า ลำน้ำปิงห่าง คำว่า “ปิงห่าง” หมายถึงแม่น้ำที่ไม่ใช้แล้ว เชื่อกันว่าเป็นทางน้ำเดิมของแม่น้ำปิงก่อนเปลี่ยนทางเดินในสมัยพม่าครองเมืองเชียงใหม่

          เกี่ยวกับความเป็นมาของแม่น้ำปิงปรากฎอยู่ในนิทานประจำถิ่นของเมืองเชียงใหม่ ซึ่งมักจะมีโครงเรื่องเล่าถึงการเสด็จมาของพระพุทธเจ้าในดินแดนภาคเหนือ พระองค์ได้ฉันเนื้อหมูที่บ้านนายจุนทะเศรษฐีในเมืองฝาง ในนิทานได้เล่าถึงที่มาของชื่อสถานที่ต่าง ๆ ที่เกี่ยวข้องกับอำเภอแม่อาย อำเภอฝาง อำเภอเชียงดาว ซึ่งมีเรื่องเล่าว่า

          พระพุทธเจ้าทรงเห็นว่าบ้านเมืองฝั่งโยนกนี้ ต่อไปภายภาคหน้าจะเป็นที่ประดิษฐานพุทธศาสนาได้มั่นคง จึงเสด็จมาถึงน้ำตกแห่งหนึ่งได้เอาหลังพิงตรงนั้น เพื่อเอาพระบาทแช่น้ำ ซึ่งปรากฎเป็นร่องรอยเป็นหลุมหรือโหม้ง คนเมืองเรียกว่า “โหม้งพระเจ้าหลังปิง” ต่อมาคนเรียกชื่อว่า “น้ำปิง” เพราะพระพุทธเจ้าเอาหลังพิงหิน

          อีกสำนวนหนึ่งเล่าว่า พระพุทธเจ้าได้เสด็จไปสรงน้ำที่อ่างสรง คนเมืองเรียกว่า “อ่าวสลุง” (สลุง หมายถึง ขันใบใหญ่) และยกย่องว่าดอยนี้สูงมาก สูงเพียงเดือนเพียงดาว ต่อไปจะเกิดเมืองชื่อ “เมืองเชียงดาว” เรื่องชื่อเมืองเชียงดาวนี้ ผู้รู้บางท่านแย้งว่า เมืองเชียงดาวเป็นเมืองเก่า เมืองที่มีชื่อ “เชียง” ต้องเป็นเชื้อสายกษัตริย์พญามังรายมาปกครองเท่านั้น เช่น เชียงแสน เชียงราย เชียงคำ เชียงตุง เชียงรุ้ง ฯลฯ

          เมื่อครั้งพระพุทธเจ้าเสด็จมาที่ถ้ำเชียงดาวก็ลงสรงน้ำ มีย่าเฒ่าเอาปลาปิ้งไปถวายพระพุทธเจ้า แต่พระพุทธเจ้าฉันไม่ได้เพราะเป้นเนื้อ เลยนำปลาปิ้งไปปล่อยลงแม่น้ำ จึงเป็นที่มาว่าปลาในถ้ำเชียงดาวมีรอยดำ ๆ อยู่ตรงข้างตัว ซึ่งก็คือรอยไหม้หนีบขวางนั่นเอง ส่วนแม่น้ำดังกล่าวจึงได้ชื่อว่า “แม่น้ำปลาปิ้ง” กาลต่อมาชื่อของแม่น้ำสายนี้เรียกชื่อเพี้ยนไปเป็น “แม่น้ำปิง”

          นิทานพื้นเมืองเชียงใหม่เกี่ยวกับ “แม่น้ำปิง” มีหลายสำนวนส่วนใหญ่ก็จะคล้าย ๆ กัน มักกล่าวถึงอิทธิปาฎิหารย์อันเกิดจากพระพุทธเจ้า ดังนี้

          “… ขณะที่พระพุทธเจ้ากำลังจะฉันอาหาร อาหารวันนั้นก็มีหลายอย่าง อย่างนึงคือปลาปิ้งพระพุทธเจ้าเห็นปลาปิ้งก็รู้สึกสงสาร เพราะนอกจากปลาจะถูกฆ่าตายแล้ว มิหนำซ้ำยังถูกผ่าออกแล้วเอาไม้มาหนีบนำไปปิ้งอีก พระองค์ก็นำปลานั้นมาแล้วตั้งใจอธิษฐานปล่อยปลาลงน้ำ ผลานั้นก็กลับมามีชีวิตจิตใจอีกครั้ง ปลานั้นก็คือปลาที่ว่ายไปมาตามแอ่งน้ำหน้าถ้ำเชียงดาว”

          แม่น้ำปิงหรืออีกชื่อหนึ่งคือ แม่น้ำระมิงค์ อาจารย์ศรีศักร วัลลิโภดม วิเคราะห์ว่า เม็งหรือมอญ เป็นกลุ่มชนพื้นเมืองที่เจริญรุ่งเรืองเป็นพวกแรก และตั้งถิ่นฐานกระจัดกระจายอยู่ทั่วไปตามที่ราบลุ่มแม่น้ำปิง จึงพบคำเก่าแก่ในภาษาเม็งเรียกแม่น้ำปิงว่า “แม่ระมิง” หรือ แม่น้ำเม็ง หมายถึง แม่น้ำที่ชาวเม็งอาศัยอยู่ ภาษาล้านนาไม่มีตัว ร คำว่า “รามัญ” จึงกลายเป็น รามง และคำว่า มอญ จึงกลายเป็น เม็ง

รายการอ้างอิง

รุ่งวิทย์ สุวรรณอภิชน. (2554). ชีวืตแสนสุขในเชียงใหม่. เม็ดทรายพริ้นติ้ง.

Rate this post

Leave a Reply

Your email address will not be published. Required fields are marked *