May 16, 2024

      แม่ฮ่องสอนเป็นดินแดนที่อยู่อาศัยของมนุษย์ก่อนประวัติศาสตร์ มีหลักฐานทางโบราณคดีมากมาย โดยเฉพาะในถ้ำหลายแห่งในอำเภอปางมะผ้า มีการค้นพบ “โลงผีแมน” และที่สำคัญคือการค้นพบเมล็ดพืชอายุเก่าแก่ถึง 12,000 ปี ซึ่งอาจแสดงว่าบริเวณนี้เป็นแหล่งที่มนุษย์รู้จักการเพาะปลูกมานานที่สุดแห่งหนึ่งของโลก นอกจากนี้ยังพบเศษภาชนะดินเผา เครื่องมือหินกะเทาะ และขวานหิน อายุระหว่าง 8,000 – 4,000 ปีก่อนประวัติศาสตร์

          ล่วงมาถึงสมัยล้านนา ในช่วงสมัยอยุธยา พื้นที่แถบแม่ฮ่องสอนมีความสำคัญในฐานะกันชนระหว่างสองอาณาจักรใหญ่คือ ล้านนากับพม่า เป็นที่ตั้งเมืองหน้าด่านสำคัญทางฝั่งตะวันตกของล้านนาสองเมือง คือ เมืองปายทางตอนเหนือและเมืองยวมทางตอนใต้ หมู่บ้านอื่นที่ตั้งกระจายอยู่ส่วนใหญ่เป็นเพียงแค่ชุมชนบ้านป่า มีชาวไทใหญ่อาศัยอยู่ทั่วไปตามบริเวณรอยต่อระหว่างไทยกับพม่า

          จนกระทั่งประมาณปี พ.ศ.2374 เจ้าผู้ครองเชียงใหม่องค์ที่ 5 มีนามว่า เจ้ามโหตรประเทศ (ตรงกับสมัยรัชกาลที่ 3 แห่งกรุงรัตนโกสินทร์) ได้มอบหมายให้เจ้าแก้วเมืองมาเป็นแม่กองนำไพร่พลช้างต่อและหมอควาญออกสำรวจสถานการณ์ชายแดนด้านตะวันตก และให้จับช้างป่าไปใช้งานที่เชียงใหม่ เจ้าแก้วเมืองมาเดินทางมาพบทำเลเหมาะเป็นหมู่บ้านเล็ก ๆ แห่งหนึ่งตั้งอยู่บนที่ราบริมน้ำปาย จึงเรียกชาวบ้านมาแนะนำให้บุกเบิกที่ดินทำไร่นาแล้วแต่งตั้งให้ชาวไทใหญ่ชื่อ “พะกาหม่อง” เป็นผู้ปกครองหมู่บ้าน แล้วให้ชื่อหมู่บ้านว่า โป่งหมู เพราะมีดินโป่งและมีหมูป่าจำนวนมากลงมากินโป่ง ต่อมาเรียกเพี้ยนเป็นบ้านปางหมู

          หลังจากพะกากม่องกับเจ้าแก้วเมืองมาตระเวนไปทางใต้และจับช้างป่าได้ตามที่ต้องการ ก็เดินทางมาถึงพื้นที่ที่มีทำเลเหมาะอีกแห่งหนึ่ง มีร่องน้ำที่เหมาะสำหรับฝึกช้าง จึงหยุดไพร่พลเพื่อฝึกช้าง ก่อนเจ้าแก้วเมืองมาจะเดินทางกลับเชียงใหม่ได้แต่งตั้งให้แสนโกม บุตรเขยของพะกาหม่องเป็นผู้ใหญ่และตั้งชื่อหมู่บ้านนี้ว่า “แม่ฮ่องสอน” อันหมายถึงหมู่บ้านที่มีร่องน้ำฝึกช้าง ทุกปีพะกาหม่องและแสนโกมจะต้องนำเงินค่าตอไม้ซึ่งได้จากการค้าไม้สักในแบบนี้ไปถวายเจ้ามโหตรประเทศ ณ เมืองเชียงใหม่

          กระทั่งประมาณปี พ.ศ.2399 เกิดการสู้รบในพม่า ทำให้ชาวไทใหญ่อพยพเข้ามาอยู่ในปางหมู แม่ฮ่องสอน เมืองปาย และขุนยวมเพิ่มขึ้น ในจำนวนนี้มีชายหนุ่มผู้หนึ่งชื่อ “ชานกะเล” เข้ามาอยู่ที่บ้านบางหมู ต่อมาได้รับความไว้วางใจให้ไปครองเมืองขุนยวม

          นับจากนั้นแม่ฮ่องสอนซึ่งเคยเต็มไปด้วยป่ารกชัฏก็เริ่มมีชาวไทใหญ่มาตั้งถิ่นฐานมากขึ้น นอกจากเข้ามาทำไร่ทำนาแล้ว บางพวกยังเข้ามาทำไม้ล่องไปขายเมืองมะละแหม่งอีกด้วย ทำให้แม่ฮ่องสอนกลายเป็นชุมชนที่ใหญ่ขึ้น

          จนกระทั่ง ปี พ.ศ.2417 เจ้าอินทวิชยานนท์ ผู้ครองนครเชียงใหม่ได้ยกฐานะแม่ฮ่องสอนเป็นเมืองหน้าด่าน แล้วแต่งตั้งชานกะเลเป็น “พญาสิงหนาทราชา” เจ้าเมืองคนแรก แต่ชาวเมืองพากันยกย่องว่าเป็นเจ้าฟ้าตามแบบเจ้าผู้ครองเมืองไทใหญ่รัฐฉาน ในสมัยนี้เมืองแม่ฮ่องสอนได้เจริญขึ้นอย่างรวดเร็ว

          ปี พ.ศ.2443 รัชกาลที่ 5 โปรดเกล้าฯ ให้รวมเมืองแม่ฮ่องสอน เมืองขุนยวม เมืองยวมใต้ (แม่สะเรียง) และเมืองปาย ตั้งเป็นบริเวณเชียงใหม่ตะวันตก พ.ศ.2446 เปลี่ยนชื่อเป็นบริเวณพายัพเหนือ ขึ้นตรงต่อข้าหลวงใหญ่มณฑลพายัพ และตั้งที่ว่าการเมือง แม่ฮ่องสอน ในปี พ.ศ.2453 ได้เปลี่ยนฐานะเป็นเมืองจัตวาและย้ายที่ว่าการแขวงจากเมืองยวมมาตั้งที่เมืองแม่ฮ่องสอน จนถึงปี พ.ศ.2476 ยกฐานะเป็นจังหวะแม่ฮ่องสอน และโปรดเกล้าฯ ให้พระศรสุราชเป็นผู้ว่าราชการจังหวัดคนแรก ขึ้นตรงต่อกระทรวงมหาดไทยจนถึงปัจจุบัน

          ชาวเมืองแม่ฮ่องสอนส่วนใหญ่เป็นชาวไทใหญ่ เรียกตัวเองว่า “ไตโหลง” เรียกสั้น ๆ ว่า “ไต” พม่าเรียกว่า “ฉานหรือชาน” ชาวล้านนาเรียกว่า “เงี้ยว” ซึ่งมีความหมายส่อไปในทางดูถูก

          ไทใหญ่เป็นชาชาติไตพวกหนึ่ง ชนชาติไตเป็นกลุ่มชาติพันธุ์ใหญ่ที่มีถิ่นฐานกระจายอยู่ในภูมิภาคเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ แบ่งออกได้เป็นหลายกลุ่มด้วยกัน เช่น ไตอาหมในแคว้นอัสสัม ไตโหลงหรือไทใหญ่ในพม่า ไทสบามกับลาว เป็นต้น

          ชาวไทใหญ่อพยพจากรัฐฉานซึ่งเป็นบ้านเมืองเดิมในประเทศพม่า เข้ามาตั้งถิ่นฐานในจังหวัดแม่ฮ่องสอนหลายครั้งหลายคราด้วยกัน แบ่งตามสาเหตุที่เข้ามาได้เป็นสามกลุ่มใหญ่ คือ หนึ่งพวกที่เข้ามาหักร้างถางพงที่ทำกิน คือพวกที่เข้ามาอยู่ในพื้นที่ก่อนเจ้าแก้วเมืองมาจะรวบรวมให้เป็นชุมชน เนื่องจากในอดีตยังไม่มีการแบ่งเส้นแขตแดนที่แย่ชัด สองคือพวกที่หนีศึกสงครามเข้ามา มีทั้งที่หนีจากการสู้รบระหว่างเมืองไทใหญ่ในรัฐฉานด้วยกันเอง ดังเช่นในสมัยที่ชานกะเลออพยพเข้ามา และที่เข้ามาในช่วงที่อังกฤษเข้าโจมตียึดพม่าเป็นอาณานิคม และสามคือกลุ่มพวกสุดท้ายคือคนในปกครองของอังกฤษที่เข้ามาทำไม้และค้าขาย

          จากการที่มีชาวไทใหญ่อพยพมาอยู่ในแม่ฮ่องสอน ทำให้วัดวาอารามหลายแห่งได้รับอิทธิพลทางศิลปะจากไทใหญ่ผสมผสานกับสิลปะพม่าที่เห็นได้ชัดเจนที่สุดคือ สถาปัตยกรรมที่ปรากฎในวัด ไม่ว่าจะเป็นอุโบสถ วิหาร จอง จะมีรูปแบบหลังคาที่ทำซ้อนชึ้นไปหลาย ๆ ชั้น โดยยกจั่วขึ้นและมีหลังคาขนาดเล็กกว่าทิ้งชายครอบลงมา

          ไทใหญ่เป็นชนชาติที่มีอารยธรรมเก่าแก่มาแต่เดิมเป็นเวลานับพันปี มีภาษาพูดเป็นของตนเอง เรียกว่า “กำไต” เวลาพูดภาษาไต เรียกว่า อุบไต คล้ายคลึงกับภาษาไทย แม้เมื่อพูดต่อกับเป็นประโยคเราอาจฟังไม่รู้เรื่อง แต่หากแยกเป็นคำเดี่ยว ๆ จะเข้าใจได้ง่ายโดยเฉพาะคำพื้น ๆ เช่น ข้าว ออกเสียงเหมือนกัน ไฟ ออกเสียงว่า ไพ ฟ้า ว่า พะ บ้าน ว่า ว่าน เป็นต้น ส่วนภาษาเขียน ตัวอักษรไทใหปญ่เรียกว่า “ลีกไต” มีใช้มาตั้งแต่สมัยโบราณแล้ว ลักษณะกลมป้อมคล้ายตัวอักษรมอญและพม่า

       ด้านการแต่งกาย ผู้หญิงนิยมนุ่งผ้าซิ่นเป็นสีพื้น ไม่มีการต่อชายผ้าซิ่น ทอหรือปักลายอย่างซิ่นตีนจกที่คนเมืองนิยมใส่กัน ส่วนเสื้อเป็นแบบที่ชาวพม่าใส่ คือ สาบเสื้อด้านหน้าจะป้ายจากด้านซ้ายมาติดกระดุมด้านขวา มีทั้งแบบแขนสั้งและแขนยาว ตามคอและชายเสื้อนิยมปักฉลุ

          สำหรับผู้ชายนิยมสวมกางเกงแบบเตี่ยวโย้งหรือเตี่ยวสะดอแบบที่ชาวล้านนาใส่กัน เสื้อคอกลมแบบต่อแขนยาว ติดกระดุมผ้าด้านหน้าแบบเสื้อคนจีน สมัยก่อนนิยมสักหมึกตามตัวจนลาย

รายการอ้างอิง

นายรอบรู้ . (2545). แม่ฮ่องสอน : เที่ยวทั่วไทยไปกับนายรอบรู้ (พิมพ์ครั้งที่ 4). กรุงเทพฯ: สารคดี.

Rate this post

Leave a Reply

Your email address will not be published. Required fields are marked *