May 16, 2024

      แต่เดิมวิถีชีวิตของชุมชนไทยใหญ่ส่วนใหญ่ในจังหวัดแม่ฮ่องสอน ทำเกษตรโดยการปลูกงา ถั่วเหลืองไว้บริโภคในชุมชนและขายให้กับชุมชนใกล้ ๆ งาที่ได้นำมาทำน้ำมันงา และถั่วเหลืองที่ได้นำมาทำถั่วเน่าและถั่วเน่าแค๊ปหรือถั่วเน่าแผ่นไว้กินในบ้านเรือน ที่เหลือก็ขายให้กับชุมชนข้างเคียง

วิธีการสกัดน้ำมันงาหรืออีดงาแบบพื้นบ้านของคนไทยใหญ่

คำว่า “อีด” มาจากภาษาไทยใหญ่ที่แปลว่าการสกัดหรือการบีบน้ำมันจากเมล็ดงาหรือเมล็ดถั่ว

  1. นำเมล็ดงาที่คัดเลือกและทำความสะอาดดีแล้วมาตากแดด 1 แดด (ใช้เมล็ดงา 15 กิโลกรัมต่อ 1 ครก)
  2. นำน้ำสะอาดต้มสุกมาคลุกเคล้ากับเมล็ดงาให้ทั่วกัน
  3. นำมาใส่ลงไปในครก เริ่มทำการบดงาโดยการใช้วัวเดินลากไม้และคานให้สากหมุนบดงาไปเรื่อย ๆ และต้องหมั่นคอยพลิกกลับเม็ดงาให้ลงไปในครกตลอดเวลาที่ผ่านไปประมาณครึ่งชั่วโมง เมล็ดงาจะแตก ให้เริ่มเติมน้ำต้มสุกลงไปทีละน้อย 3-4 นาที จนกว่าน้ำมันงาจะเริ่มซึมออกมาก็ให้หยุดเติม
  4. บดต่อไปเรื่อย ๆ กากงาจะไปติดข้างครก น้ำมันงาจะซึมขึ้นมาเป็นฟองสีขาว ยังใช้ไม่ได้ บดต่อไปจนน้ำมันหมดฟองแล้วจึงใช้ผ้าขาวบ้างซับน้ำมันงาขึ้นมาจนหมดแล้วบิดกรองเก็บไว้ในภาชนะ
  5. จากนั้นให้เขี่ยกากงาข้าง ๆ ลงไปในครกให้หมดแล้วบดต่อไปเรื่อย ๆ จนกว่ากากงาจะแห้งถึงจะได้ที่ น้ำมันงาที่เหลืออยู่จะไปรวมกันอยู่ที่เบ้าก้นครกให้เอวสากออก
  6. ตักเอาน้ำมันงาไปกรองให้สะอาดด้วยผ้าขาวบาง ใส่ในถังที่ 1 พักทิ้งไว้ 1 คืน จากนั้นนำน้ำมันงาไปกรองให้สะอาด ใส่ไว้ในถังที่ 2 นาน 10 วัน จะมีตะกอนละเอียดที่ไม่สามารถกรองได้ตกอยู่ก้นถัง
  7. จากนั้นให้ตักเฉพาะน้ำมันงาจากถังที่ 2 มาใส่ในถังที่ 3 นาน 15 วัน เพื่อพักให้ตกตะกอนอีกครั้ง
  8. จากนั้นนำน้ำมันงาที่สะอาดดีแล้วมากรองใส่ขวด สามารถนำไปจำหน่ายได้

       การอีดน้ำมันด้วยวิธีการนี้สามารถใช้กับเมล็ดพืชน้ำมันชนิดอื่น ๆ ที่ไม่แข็งมากนักได้ด้วยเช่นกัน เช่น ถั่วลิสง ทานตะวัน ถั่วเหลือง เป็นต้น กระบวนการอีดงาแบบพื้นบ้านจะใช้เวลาอีดประมาณ 3 ชั่วโมง และทุก 1 ชั่วโมงจะเปลี่ยนวัวหนึ่งครั้งเพื้อพักกินน้ำกินหญ้า

รายการอ้างอิง

กอ สะแกกรัง. (2545). อีดงา-สกัดน้ำมันงาแบบพื้นบ้านของชาวไทยใหญ่ จ.แม่ฮ่องสอน. เกษตรกรรมธรรมชาติ, 1, 22-25.

Rate this post

Leave a Reply

Your email address will not be published. Required fields are marked *