May 18, 2024

          จากการสัมภาษณ์ นางลัดดาวัลย์ อินสุวรรณ์ หรือ นางสาวบัวแก้ว อินสุวรรณ์ เป็น “นางงามเชียงใหม่ในงานฉลองรัฐธรรมนูญ พ.ศ. 2482” นางงามเชียงใหม่คนที่ 3 อุ๊ยแก้วเล่าให้ฟังว่า นางงามเชียงใหม่คนแรกชื่อ นางสาวบัวเที่ยง (จำนามสกุลไม่ได้) มาจากสันกำแพง ปัจจุบันเสียชีวิตแล้ว คนที่สองชื่อ นางสาวกุหลาบแก้ว (จำนามสกุลไม่ได้) จากท่าแพ ปัจจุบันเสียชีวิต คนที่สาม คือ อุ๊ยแก้วเอง และคนที่สี่คือ นางสาวละมุน พันธุมินทร์ ปัจจุบันเสียชีวิตแล้วเช่นกัน

          อุ๊ยแก้วเล่าให้ฟังถึงบรรยากาศของการประกวดสมัยนั้นว่า การประกวดนางงามเชียงใหม่สมัยนั้น จัดขึ้นพร้อมๆ กับการประกวดนางสาวสยามที่เมืองบางกอก ที่นั่นมีการประกวดนางสาวสยามฉลองรัฐธรรมนูญ ที่นี่ก็มีการประกวดนางงามเชียงใหม่ฉลองรัฐธรรมนูญเหมือนกัน

          การประกวดจัดขึ้นที่หอประชุมโรงเรียนยุพราชวิทยาลัย อุ๊ยแก้วออกจาก ม.1 โรงเรียนวัฒโนทัยพายัพ เพื่อมาเรียนตัดเสื้ออยู่ที่ข้างโรงเรียนยุพราพวิทยาลัย คุณทิม โชตนา นายช่างแขวงการทางเชียงใหม่สมัยนั้นมาพบอุ๊ยแก้ว จึงชวนมาประกวดนางงาม อุ๊ยแก้วตอนนั้นตัดผมสั้น เนื่องจากเพิ่งออกจากโรงเรียน เข้าประกวดหมายเลข 3 สวมผ้าซิ่นไหม เสื้อ และสไบเฉียง ทาลิปสติกบางๆ และได้รับตำแหน่ง “นางงามเชียงใหม่ในงานฉลองรัฐธรรมนูญ พ.ศ. 2482” พร้อมด้วยสลุงเงินใบใหญ่ จารึกชื่อไว้เป็นเกียรติ และเงินรางวัล 100 บาท

          อุ๊ยแก้วเล่าว่า การประกวดยุคเดิมไม่เหมือนการประกวดสมัยนี้ ยุคนั้นไม่การแต่งหน้า เวลาประกวดจะวัดเอว สะโพก หน้าอก ส่วนสูง แล้วก็เดินบนเวที ผู้เข้าประกวดก็เป็นคนธรรมดา ไม่เหมือนสมัยนี้ที่ต้องแต่งหน้า แต่งตัว และต้องมีการศึกษาสูง ไม่มีสปอนเซอร์ ไม่เป็นธุรกิจเหมือนสมัยนี้ มงกุฎก็ไม่ใช่มงกุฎเพชร แต่เป็นลูกปัดเลื่อมๆ มงกุฎต้องส่งต่อให้คนอื่นต่อไป นางงามเชียงใหม่สมัยนั้นเป็นตำแหน่งที่มีเกียรติมาก เวลามีแขกบ้านแขกเมืองมาก็จะได้ไปต้อนรับและช่วยเหลืองานกุศลจริงๆ

          หลังจากนางงามเชียงใหม่สี่คนนี้ผ่านไป ก็เข้าสู่ยุคสงครามโลกครั้งที่สอง ทำให้การประกวดหยุดชะงัก มาเริ่มประกวดใหม่อีกครั้งเมื่อ พ.ศ. 2492 โดยนางงามเชียงใหม่ที่เข้าใจกันว่าเป็นคนแรก คือ นางสาวสุวรรณมิตร กัญชนะ ปัจจุบันเสียชีวิตแล้ว

          การประกวดนางงามเชียงใหม่นั้นจัดขึ้นในงานฤดูหนาว ในยุคนั้นจัดขึ้นที่โรงเรียนยุพราชวิทยาลัย การประกวดนางสาวถิ่นไทยงามก็จะจัดที่นี่เช่นกัน เป้าหมายของการประกวดนางสาวเชียงใหม่นั้นคือต้องการหารายได้เข้าเหล่ากาชาดเป็นสำคัญ

          ในปีแรกหลังสงครามโลก ผู้คนฮือฮากับการประกวดมาก เข้ามาชมจนไม่มีที่นั่ง เพราะมีวงดนตรีที่มีชื่อเสียง คือวงของธนาคารออมสินมาร่วมบรรเลง และใช้เพลง “โฉมเอย โฉมงาม” มาบรรเลง ในปีนั้นคณะกรรมการต้องเพิ่มการประกวดเป็นสองครั้ง ตัดสินแล้วก็ต้องขอให้สาวงามเดินให้ชมอีกรอบ เพราะมีคนรอชมจำนวนมาก

          การประกวดนางสาวเชียงใหม่ ได้ผ่านกาลเวลามาหลายยุคหลายสมัย ได้ปั้นสาวงามจำนวนมาก ที่ไปสร้างชื่อเสียงให้กับจังหวัดเชียงใหม่ในเวทีระดับประเทศก็หลายคน จนเมื่อทางจังหวัดย้ายเวทีประกวดมาจัดที่สนามกีฬาเทศบาลนครเชียงใหม่ มีการทำเวลาให้ใหญ่ขึ้นและเริ่มมีการประกวด “นางสาวถิ่นไทยงาม” ขึ้นในยุคหลังสงครามโลกครั้งที่สอง โดยจัดคู่ไปกับเวทีนางสาวเชียงใหม่ ซึ่งรับสมัครเฉพาะสาวงามจากเชียงใหม่เท่านั้น ส่วนนางสาวถิ่นไทยงามนั้นจะไม่จำกัดเฉพาะสาวงามจากเชียงใหม่ หากยังเปิดกว้างรับสาวงามจาก 8 จังหวัดภาคเหนือ คือ จังหวัดที่พูดคำเมืองได้ให้มีสิทธิเข้ามาประกวด ผู้ที่สร้างชื่อเสียงให้กับตำแหน่งนางสาวถิ่นไทยงามจนเป็นที่รู้จัก คือ นางสาวนวลสวาท ลังการ์พินธุ์ จาก อำเภอป่าซาง จังหวัดลำพูน ได้รับตำแหน่งในปีนั้น และส่งชื่อเสียงให้กับสาวงามเมืองป่าซางเข้าเทียบชื่อสาวงามสันกำแพงอีกด้วย

          อย่างไรก็ตามปัจจุบันยังคงมีการประกวดนางสาวเชียงใหม่เป็นประจำทุกปีในงานฤดูหนาว ที่จัดขึ้นในช่วงส่งท้ายปีเก่าต้อนรับปีใหม่ ท่ามกลางความหนาวเย็นนั้น สาวงามทุกคนต้องสวมชุดว่ายน้ำท้าทายลมเย็นยะเยือกออกมาโชว์ความงามให้กรรมการตัดสิน โดยมีมงกุฎและรางวัลมากมายรออยู่ พร้อมกับโอกาสในการก้าวออกไปสู่เวทีระดับประเทศ และอาชีพอื่นๆ ในวงการบันเทิง

รายการอ้างอิง
นิตยสาร พลเมืองเหนือ. (2551). “นางสาวเชียงใหม่” ตำนานที่ยังมีชีวิต. ค้นจาก http://https://www.bloggang.com/m/viewdiary.php?id=puremax&month=05-2008&date=30&group=3&gblog=1

Rate this post

Leave a Reply

Your email address will not be published. Required fields are marked *