May 18, 2024

          ประเทศไทย แม้จะไม่ใช่แหล่งปลูกฝิ่นเถื่อนขนาดใหญ่ แต่เป็นพื้นที่สำคัญในการแก้ไขปัญหายาเสพติด เพราะในจำนวนสามประเทศสามเหลี่ยมทองคำนั้น ทั้งพม่าและลาว เป็นประเทศที่ไม่มีเมืองท่าสำหรับขนถ่ายฝิ่นหรือเฮโรอีนออกสู่ตลาด ประกอบการเส้นทางการคมนาคมภายในประเทศไทยี่มีความสะดวกสบายมากกว่าประเทศเพื่อนบ้านทั้งสอง จึงทำให้ประเทศไทยเป็นทางผ่านที่สำคัญของยาเสพติดที่ผลิตได้ในบริเวณสามเหลี่ยมทองคำ

          พื้นที่ปลูกฝิ่นในประเทศไทยนั้นพบว่า ฝิ่นเป็นพืชที่ปลูกได้ดีบนที่สูงเหนือระดับน้ำทะเลประมาณ 900 เมตร หรือ 3,000 ฟุตขึ้นไป ซึ่งเกือบทั้งหมดอยู่บนพื้นที่สูงของภาคเหนือตอนบนของประเทศไทย ส่วนผู้ปลูกฝิ่น คือ ชาวเขาเผ่าต่าง ๆ

          การสำรวจเกี่ยวกับการผลิตฝิ่นในประเทศไทย เริ่มเมื่อปี พ.ศ.2505 โดยกรมประชาสงเคราะห์ ร่วมมือกับผู้เชี่ยวชาญทางมนุษยวิทยาขององค์กรสหประชาาติ โดยได้สำรวจโดยการสุ่มตัวอย่างจากหมู่บ้านชาวเขาเผ่าแม้ว เย้า ลีซอ มูเซอ และอีก้อ รวม 18 หมู่บ้าน ในพื้นที่สามจังหวัด ได้แก่ เชียงใหม่ เชียงราย และตาก พบว่า ครอบครัวชาวเขาปลูกฝิ่นเฉลี่ยครอบครัวละ 3-4 ไร่ เมื่อนำมาพิจารณาประกอบกับรายได้ของชาวเขา เฉลี่ยครอบครัวละ 3,200 – 3,600 บาทต่อปี และราคาฝิ่นขณะนั้นกิโลกรัมละ 800-9– บาท ดังนั้น ผลผลิตฝิ่นเท่ากับ 4 กิโลกรัมต่อครอบครัว เมื่อนำเอาตัวเลขเฉลี่ยนี้ไปคูฯกับจำนวนครอบครัวของชาวเขาทั้ง 5 เผ่า มีครอบครัวประมาณ 18,925 ครอบครัว ผลผลิตฝิ่นทั้งหมด 75,700 กิโลกรัม ซึ่งต้องใช่พื้นที่ปล฿กประมาณ 66,000 ไร่ อย่างไรก็ตาม ตัวเลขเหล่านี้อาจคลาดเคลื่อนจากความจริง เนื่องจากชาวเขาที่ปลูกฝิ่นนั้นไม่ได้ปลูกทุกครอบครัว และการประมาณการจำนวนผลิตฝิ่นแต่ละพื้นที่แตกต่างกันมากตามสภาพดินและภูมิอากาศตลอดจนการดูแลเอาใจใส่ของผู้ปลูก

          ชาวเขาปลูกฝิ่นโดยใช้เมล็ดซึ่งคัดจากผลฝิ่นขนาดใหญ่และจัดเตรียมไว้ตั้งแต่ฤดูปลูกฝิ่นที่ผ่านมา ผลฝิ่นที่ถูกคัดเลือกเป็นผลฝิ่นที่ถูกกรีดเป็นยางฝิ่นแล้วและปล่อยทิ้งให้แห้ง จึงเก็บไว้ได้นาน 

          ดินที่เหมาะกับการปลูกฝิ่นที่สุดคือ ดินร่วนซุยหรือดินปนหิน มีปุ๋ยพืชสดมาก ๆ หรือเป็นผืนดินที่ไม่เคยปลูกพืชชนิดอื่นมาก่อน ซึ่งดินในบริเวณเช่นนี้จะมีการสะสมของปุ๋ยซากพืชซากสั้ตว์ทับถมกันมานาน ชาวเขาเรียกดินประเภทนี้ว่า “ดินดำ”  ดินลักษณะนี้ปลูกฝิ่นได้งาม ให้น้ำยางมาก

          สภาพภูมิประเทศที่ฝิ่นปลูกได้ดีคือ บริเวณที่มีแสงแดดมาก โดยเฉพาะแสงแดดในยามเช้า ชาวเขาส่วนใหญ่จึงมักกรีดฝิ่นตอนเช้าตรู่แล้วปล่อยทิ้งไว้ให้ถูกแสงแดดจนยางฝิ่นแห้ง บ่ายของวันรุ่งขึ้นจึงเก็บยางฝิ่น พื้นที่ปลูกฝิ่นจะเป็นบริเวณที่เป็นหุบเขา เพื่อป้องกันไม่ให้ลมพัดต้นฝิ่นหักเสียหาย เนื่องจากก้านและดอกฝิ่นมีความยาวชลูดเด่นที่ตรงปลาย

          สภาพอาการที่ฝิ่นชอบนั้น เป็นอากาศหนาวหรือที่ที่มีความชื้นมาก สังเกตว่าปีใดที่มีอากาศหนาวจัด ปีนั้นจะปลูกฝิ่นงอกงาม

รายการอ้างอิง
พงษ์ศักดิ์ อังกสิทธิ์, สุนันท์ ละอองศรี, และ ธีรภัทร สันติเมทินีดล. (2531). จากฝิ่น … สู่กาแฟ. เชียงใหม่: โรงพิมพ์ดารารัตน์.

Rate this post

Leave a Reply

Your email address will not be published. Required fields are marked *