May 19, 2024

พันเอกพระยาศรีวิสารวาจา อธิการบดีคนแรกของมหาวิทยาลัยเชียงใหม่

            พันเอกพระยาศรีวิสารวาจา (เทียนเลี้ยง ฮุนตระกูล) เกิดเมื่อวันที่ 25 กุมภาพันธ์ พ.ศ. 2439 เป็นบุตรคนที่ 7 ของนายอุ่นตุ้ย และ นางทองคำ ฮุนตระกูล เจริญวัยขึ้นในบ้านของคุณตาคุณยาย คือ นายปิน และนางหุ่น จันตระกูล ผู้เป็นเจ้าของตลาดน้อย ต่อมาได้กลับไปอยู่กับบิดามารดา ณ ตึกซุยโห เชิงสะพานพิทมเสถียร เมื่ออายุได้ 7 ปี บิดาก็ถึงแก่กรรมลง มารดาและพี่ชายใหญ่ 2 คนได้รับหน้าที่ปกครองและดูแลท่านเจ้าคุณต่อมาเป็นอย่างดี ได้ให้เข้ารับการศึกษาในโรงเรียนอัสสัมชัญตั้งแต่ พ.ศ. 2447-2454 เป็นนักเรียนเลขประจำตัวที่ 1679 ท่านเจ้าคุณเรียนจบชั้น 6 เมื่ออายุได้ 15 ปี มารดาและพี่ชายก็ได้ส่งไปศึกษาต่อในประเทศอังกฤษโดยทุนส่วนตัว เมื่อแรกไปถึงกรุงลอนดอนได้เข้าศึกษาในโรงเรียนอินเตอร์เนชัลแนล คอลเลช (The International College) เป็นเวลา 1 ปี โดยอยู่ในความปกครองของนายห้าง ฮัสกี้ แอนด์ ปิกเกอริง (Messrs. Hasche and Pickering) ผู้เป็นเอเย่นต์ของห้างฮุนซุยโห ในปี พ.ศ. 2455 นายบริกเฮ้าส์ (Mr. Samuel Brighouse) ทนายความประจำห้างได้กลับไปบ้านในประเทศอังกฤษ จึงได้เป็นธุระจัดการให้ย้ายจากโรงเรียนเดิมเข้าศึกษาในชั้นสูงของโรงเรียนดัลลิช (Dulwich College) ตามคำขอร้องของผู้ปกครองทางบ้าน และในปีสุดท้ายของการศึกษาที่โรงเรียนแห่งนี้ ทางโรงเรียนได้จารึกชื่อของท่านเจ้าคุณเป็นอักษรตัวทองในหอประชุมของโรงเรียนว่า T.L. Hoon ทั้งนี้ เพื่อเป็นเกียรติในฐานะที่ท่านเจ้าคุณเป็นนักเรียนที่จบได้เป็นที่ 1 ตลอดระยะเวลาที่ทำการศึกษาที่โรงเรียนนี้มา ในปี พ.ศ. 2459 ทางโรงเรียนได้ส่งท่านเจ้าคุณเข้าแข่งขันชิงทุนเข้าศึกษาในมหาวิทยาลัยอ๊อกซฟอร์ด พร้อมกับนักเรียนชาวอังกฤษอีก 2 คน ปรากฏว่าได้ทุนั้ง 3 คน ตัวท่านเจ้าคุณเองได้รับทุนของวิทยาลัยลินคอล์น (Lincoln College, Oxford University) ปีละ 50 ปอนด์ เป็นเวลา 4 ปี

            ในปี พ.ศ. 2462 ท่านเจ้าคุณสอบได้ปริญญา B.A. ของมหาวิทยาลัยอ๊อกซฟอร์ดโดยได้เกียรตินิยมอันดับ 1 (School of Jurisprudence)

            ในปี พ.ศ. 2463 ได้รับเกียรตินิยมอันดับ 2 ในการสอบเพื่อรับปริญญา B.C.L. ของมหาวิทยาลัยอ๊อกซฟอร์ด และในปลายปีนั้นเอง ท่านได้สอบผ่านภาคสุดท้ายของการสอบเนติบัณฑิต โดยได้รับเกียรตินิยมอันดับ 2 เช่นกัน (English Barrister at Law Middle Temple) ทั้งนี้ โดยท่านเจ้าคุณมีเวลาเตรียมสอบเพียงเดือนเดียวเท่านั้น

            ในปี พ.ศ. 2463-2464 ท่านได้ฝึกงานในด้านกฎหมายกับ เซอร์ ฮิว เฟรเซอร์ (Sir Hugh Fraser) ในกรุงลอนดอน และในปี พ.ศ. 2464 ท่านได้เริ่มเข้ารับราชการเป็นเลขานุการตรีในสถานฑูตไทย ณ กรุงปารีส โดยไม่ได้กลับมาประเทศไทยก่อนเลย ซึ่งขณะนั้นพระวรวงศ์เธอ พระองค์เจ้าจรูญศักดิ์ กฤดากร เป็นอัครราชฑูต

            ในปี พ.ศ. 2466 ท่านเจ้าคุณได้กลับไปรับปริญญา B.C.L. และปริญญา M.A. จากมหาวิทยาลัยอ๊อกซฟอร์ด เพราะตามกฎของมหาวิทยาลัยนั้น ผู้ที่สอบได้ปริญญานี้จะได้รับปริญญาก็ต่อเมื่อมีชื่อเป็นนักศึกษาอยู่ในมหาวิทยาลัยแล้วเป็นเวลามากกว่า 7 ปี

            ในปี พ.ศ. 2467 ท่านเจ้าคุณได้รับพระราชทานบรรดาศักดิ์เป็น หลวงศรีวิสารวาจา ในขณะรับราชการอยู่ ณ กรุงปารีส แล้วจึงได้ย้ายกลับมารับราชการในกรุงเทพมหานคร ในปีต่อมาได้รับพระราชทานบรรดาศักดิ์เป็นพระยาศรีวิสารวาจา และในปี พ.ศ. 2471 ท่านได้รับพระราชทานบรรดาศักดิ์เป็น มหาอำมาตย์ศรี พระยาศรีวิสารวาจา และเข้ารับตำแหน่งปลัดทูลฉลองในกระทรวงการต่างประเทศ เมื่ออายุเพียง 32 ปี เท่านั้น

            หลังจากการเปลี่ยนแปลงการปกครองในวันที่ 24 มิถุนายน พ.ศ. 2475 ท่านเจ้าคุณได้รับแต่งตั้งให้เป็นรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการต่างประเทศ ในคณะรัฐบาลชุดแรกของการปกครองระบอบประชาธิปไตย โดยมีพระยามโนปกรณ์นิติธาดาเป็นนายกรัฐมนตรี คณะรัฐบาลชุดนี้มีอายุเพียง 361 วัน ต่อจากนั้น ท่านได้ออกจากราชการมาทำงานส่วนตัวโดยร่วมกับพระยาเทพวิทุร และพระยาหริศจันทรสุวิท ตั้งสำนักงานทนายความขึ้นใช้ชื่อว่า “เทพศรีหริศ” ดำเนินกิจการทนายความมาจนถึงปี พ.ศ. 2489 จึงได้กลับมาสู่วงการการเมืองอีกครั้งหนึ่ง จนถึงปี พ.ศ. 2495 จึงได้มีพระบรมราชโองการโปรดเกล้าฯ ให้เป็นองคมนตรีซึ่งเป็นตำแหน่งที่ท่านเจ้าคุณมีความชื่นชมและภาคภูมิใจเป็นอันมาก แม้ว่าต่อมาจะได้กราบถวายบังคมลา (โดยถูกยืมตัว) มาดำรงตำแหน่งประธานที่ปรึกษานายกรัฐมนตรี เพื่อรับใช้ประเทศชาติในอีกด้านหนึ่งก็ตาม ท่านเจ้าคุณก็ยังได้รับพระมหากรุณาธิคุณต่อมาอยู่ดังเดิมจนถึงวาระสุดท้ายของชีวิต

ประวัติการทำงานและตำแหน่งสำคัญ

  • เม.ย. 2464 – ก.พ. 2468 เลขานุการตรี สถานฑูตไทย กรุงปารีส
  • พ.ศ. 2469 กลับประเทศไทย ตำแหน่งผู้ช่วยปลัดทูลฉลองของกระทรวงการต่างประเทศ
  • พ.ศ. 2471 – 2475 ทูลฉลองกระทรวงการต่างประเทศ
  • 24 มิ.ย. 2475 – 20 มิ.ย. 2476 รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการต่างประเทศ
  • 9 ก.พ. 2489 – 26 มี.ค. 2489 รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลัง
  • 11 พ.ย. 2490 – 6 เม.ย. 2491 รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการต่างประเทศ
  • พ.ศ. 2492 – 2494 ได้รับเลือกจากรัฐสาให้เป็นกรรมการตุลาการรัฐธรรมนูญ
  • พ.ศ. 2494 เดินทางไปกรุงวอชิงตัน ดี.ซี. ในฐานะอนุญาโตตุลาการแห่งประเทศไทย
  • 8 เม.ย. 2495 – 27 ส.ค. 2505 องคมนตรีในพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว
  • 24 ก.ค. 2502 กรรมการสภาพัฒนาเศรษฐกิจแห่งชาติ
  • 29 ส.ค. 2505 – 8 ธ.ค. 2506 ประธานที่ปรึกษานายกรัฐมนตรี (สมัย จอมพลสฤษดิ์ ธนะรัชต์)
  • 15 ก.ย. 2505 กรรมการบริหารสภาการศึกษาแห่งชาติ
  • 15 ก.ย. 2505 กรรมการข้าราชการมหาวิทยาลัย (ก.ม.)
  • 9 ต.ค. 2505 – 14 ม.ค. 2507 หัวหน้าคณะผู้แทนไทยเพื่อเจรจากับนายกัสซิง ผู้แทนเลขาธิการสหประชาชาติ เกี่ยวกับปัญญาไทย – กัมพูชา (ครั้งที่ 1)
  • 12 ต.ค. 2505 กรรมการผู้ทรงคุณวุฒิของสภามหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์
  • 12 ต.ค. 2505 กรรมการผู้ทรงคุณวุฒิของสภามหาวิทยาลัยศิลปากร
  • 18 ต.ค. 2505 กรรมการผู้ทรงคุณวุฒิของสภาจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย
  • 23 ธ.ค. 2505 กรรมการผู้ทรงคุณวุฒิของสภามหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์
  • 7 ก.พ. 2506 กรรมการผู้ทรงคุณวุฒิของสภามหาวิทยาลัยแพทยศาสตร์ (มหาวิทยาลัยมหิดลในปัจุบัน)
  • 14 ม.ค. 2507 – 30 พ.ย. 2507 หัวหน้าคณะผู้แทนไทยเพื่อเจรจากับนายกัสซิง ผู้แทนเลขาธิการสหประชาชาติ เกี่ยวกับปัญญาไทย – กัมพูชา (ครั้งที่ 2)
  • 22 เม.ย. 2507 – 21 เม.ย. 2509 อธิการบดีมหาวิทยาลัยเชียงใหม่ (ครั้งที่ 1)
  • 15 ก.ย. 2507 ที่ปรึกษาคณะกรรมการสภาวิจัยแห่งชาติ
  • 10 ก.พ. 2511 จนถึงอสัญกรรม อธิการบดีมหาวิทยาลัยเชียงใหม่ (ครั้งที่ 2)
  • วันที่ 22 มีนาคม พ.ศ. 2511 ท่านเจ้าคุณมีอาการสิ้นสติด้วยโรคหัวใจเนื่องจากเส้นเลือดในหัวใจตันอย่างเฉียบพลัน หลังจากนำส่งโรงพยาบาล คณะแพทย์ช่วยเหลือจนฟื้นขึ้นและพูดจาได้โดยปกติ และมีอาการดีขึ้นตามลำดับ ในเวลาต่อมาเวลาประมาณ 03.45 น. กลับมีอาการสิ้นสติเป็นครั้งที่ 2 และได้ถึงแก่อสัญกรรมเมื่อเวลา 04.00 น. ของวันที่ 23
  • มีนาคม พ.ศ. 2511 สิริรวมอายุได้ 71 ปี 1 เดือน

รายการอ้างอิง

สำนักนายกรัฐมนตรี. (2511). ศรีวิสารวาจา. กรุงเทพฯ: สำนักนายกรัฐมนตรี.

Rate this post

Leave a Reply

Your email address will not be published. Required fields are marked *