April 29, 2024

          ขัวแม่กก คือสะพานข้ามแม่น้ำกก (ถนนพหลโยธิน) ซึ่งแต่เดิมเป็นโครงเหล็ก คนเชียงรายจึงเรียกว่า “ขัวเหล็ก” ช่วงที่เป็นเหล็กสะพานปูพื้นด้วยไม้เนื้อแข็งแบบลูกระนาด เพราะสมัยก่อนเมืองเชียงรายยังอุดมสมบูรณ์ไปด้วยทรัพยากรป่าไม้ จึงมีไม้มากพอที่จะสร้างอะไรก็ได้ บนพื้นไม้ลูกระนาดปูไม้กระดานเป็นทางสองแนวไว้รองรับล้อยางรถยนต์ หรือ กงเกวียน ที่คนเมืองเรียกว่า “แหว้นล้อ”

          สะพานเป็นโครงเหล็กโค้งสามช่วง มีตอม่อคอนกรีตรับน้ำหนักสะพานกลางแม่น้ำกก ๒ ช่วง บนฝั่งเหนือและใต้ ๒ ข้าง หัวและท้ายเป็นสะพานคอนกรีตต่อตอม่อ เพื่อเชื่อมต่อกับ “ถนนหินฟู” (ทางลูกรัง) ตรงที่ต่อนี้เรียกกันว่าคอสะพาน คนเมืองเรียกสะพานที่เชื่อมนี้ว่า “ขัวก้อม”

          ถ้าพูดว่า “ขัวเหล็ก” ก็หมายถึงสะพานข้ามแม่น้ำกกแห่งนี้ แต่ที่บ้านขัวแคร่ซึ่งถัดขึ้นไปทางทิศเหนือประมาณ ๕ กิโลเมตร ก็มีขัวเหล็กเหมือนกัน แต่เป็นขนาดสั้นๆ เหล็กโครงขนาดเดียวกับขัวแม่กก แต่ดูจะเตี้ยกว่าไม่มีเหล็กเส้นโยงไปมาข้างบนเหมือนอย่างขัวแม่กก ก็เรียกว่า “ขัว-ขัวแคร่” แปลกว่า “สะพานขัวแคร่” สร้างหลังจากขัวแม่กกเล็กน้อย

          สะพานแม่กกเริ่มสร้างปลาปี พ.ศ. ๒๔๗๘ เสร็จเปิดใช้กลางปี พ.ศ. ๒๔๘๐ ปีเดียวกับที่สร้าง “โฮงยาไทย” สมัยที่สะพานแม่กกยังไม่ได้สร้าง อยู่ระหว่างการสำรวจออกแบบถนนจากห้าแยกฯ ไปถึงที่ตั้งขัวแม่กกนั้นยังไม่มีถนน แต่เป็นทางลำลองสำหรับเดินเท้า เป็นทางล้อและทางม้าต่างงัวต่าง แม่น้ำกกช่วงที่เป็นที่ตั้งขัวแม่กกตอนนั้นแคบและลึก เส้นทางเดินน้ำกกก็ไม่ได้เป็นสายตรงอย่างปัจจุบัน คดโค้งห่างจากเส้นทางเดินน้ำปัจจุบันนี้มาก

          พูดถึงถนนตั้งแต่ห้าแยกฯ ออกไปทางประตูท่อ ตรงไปตามแนวถนนวันนี้เป็นแนว “ขึ้นคัน” ให้รู้ว่าต่อไปจะเป็นถนน ใช้ขี้เถ้าที่เรียกว่า “ด่างโรงสี” กับ “บัวลอย” คือผักตบชวาที่มีมากมายบริเวณห้วงน้ำริมฝั่งด้านบ้านเกาะบ้านไร่มาโรยปนดินทรายที่ขุดมาจากริมถนน จนมีหลุมทรายเรียงรายกันไปตามข้างทาง ล้อเกวียน วัวควายเหยียบย่ำเป็น “ฮ่อมล้อ” ตลอดแนว

          ที่ตั้งประตูท่อปัจจุบันคือบริเวณใกล้กับสำนักงานสรรพากรจังหวัดฯ หรือศูนย์ราชการกระทรวงการคลัง บริเวณ “ปากกองยาว” มาออกวัดศรีบุญเรือง ใกล้ถนนกองยาวเยื้องๆ ไปทางเหนือเป็นกำแพงเมืองด้านประตูท่อ ต่อเนื่องจากประตูท่าทรายเลียบไปหลังสำนักงานยาสูบห้างลุ่ม ผ่านหลังสำนักงานป่าไม้ไปทะลุออกข้างโรงต้มเหล้า กำแพงเมืองคู่ขนานกับ “คืเวียง” คือคูเมืองออกไปต่อเนื่องกับห้วงน้ำร่องปลาค้าว บริเวณนั้นเป็นวังน้ำลึก หัวร่องปลาค้าวเรียกว่า “หัววัง” หรือ “คอวัง”  

          ถนนช่วงจากห้าแยกฯ ไปทางสะพานแม่กก (พหลโยธิน) ยังไม่เป็นเส้นทางสัญจร ก่อนนั้นใช้ถนนที่แยกจากถนนพหลโยธินที่บ้านสันตาลเหลือง หน้าสถานีวิทยุกระจายเสียงแห่งประเทศไทย จังหวัดเชียงราย (สวท.เชียงราย) มาทางหลังวัดสักกวัน ตรงมาบ้านใหม่ เดิมเรียก “บ้านสันทรายใหม่” เป็นแนวสันทรายที่เกิดจากอิทธิพลของแม่น้ำกก ยืนยันได้กับคำว่า “แม่กกน้ำฮ้าย” (น้ำร้าย) ได้เป็นอย่างดี

          ที่ห้าแยกฯ ไปถึงขัวเหล็กหลังจากที่สร้างสะพานแม่กกเสร็จใหม่ๆ และเปิดใช้แล้วเมื่อ พ.ศ. ๒๔๘๐ ผู้คนเส้นทางนี้น้อยมาก เนื่องจากถนนกำลังเริ่มสร้างยังเป็นลุ่มหล่มเรียกว่า “ฮ่อมล้อ” คือทางเกวียนเลียบหย่อมป่าสันทราย เต็มไปด้วยต้นงิ้วหนามดอกแดงขนาดใหญ่ เป็นที่อยู่อาศัยของแร้งกาในหน้าฝน ทางล้อก็เป็นหล่ม “ขี้เป๊อะ” ในหน้าแล้งก็จะเป็นแนวหาดทรายยาว-กว้าง ตั้งแต่ร่องปลาค้าวผ่านบ้านเกาะ บ้านไร่ กกโท้ง คล้ายกับทะเลทรายขนาดย่อมได้เลย

          แม่ตุ๊ยกองแก้ว จิตมโนวรรณ (ถึงแก่กรรมประมาณ ๔๐ ปีแล้ว เมื่ออายุได้ ๑๐๔ ปี) เล่าว่ามีครั้งหนึ่ง “เจ้านาย” จากเมืองหลวง หมายถึงจากกรุงเทพฯ จะเสด็จมาเชียงราย ทางจังหวัดฯ ตั้งพลับพลาที่พักรับเสด็จที่ข้างร่องปลาค้าว (ไม่ทราบสถานที่ชัดเจน) ได้เกณฑ์ชาวบ้านให้เก็บ “ตองตึง” (ใบพลวง) เพื่อใช้มุงหลังคาพลับพลา ช่วงนั้นเป็นช่วงฤดูแล้งแดดร้อนจัด ชาวบ้านต้องเดินลุยที่ว่างที่เต็มไปด้วยทรายที่ถูกแดดเผาได้รับความทุกข์ทนจากการเดินฝ่าทรายร้อนๆ พากันก่นด่าแช่งชักทั้งทางจังหวัดและเจ้านายพระองค์นั้นกันใหญ่ ที่บังเอิญเสด็จมาถึงเชียงรายตอนหน้าแล้งที่ร้อนจัดในปีนั้น (ไม่ทราบปี)

          คนเชียงรายไม่เคยเห็นทะเลทราย แต่เรียกพื้นทรายที่กว้างขวางจากห้าแยกถึงขัวแม่กกสมัยนั้นว่า “ทะเลทราย” บนฝั่งทั้งสองด้านมีต้นงิ้วหนามดอกแดงลำต้นขนาดใหญ่ขึ้นชุกชุม พอที่จะเรียกว่า “ป่างิ้ว” ได้

          หลังจากที่การคมนาคมสะดวกสบายมากขึ้น ขัวเหล็กที่เคยเป็นตำนานผ่านร้อนหนาวและสงครามโลกมาแล้วนั้น ถึงกาลเวลาที่ต้องรื้อถอนสร้างสะพานคอนกรีตดังที่เห็นปัจจุบัน ส่วนเหล็กที่รื้อออกนั้นก่อนหน้าได้นำไปไว้ที่แขวงการทางฯ แต่ภายหลังไม่ทราบว่าเอาไปไว้ไหน นึกเสียดายไม่ได้ว่าถ้าหาก “ของเก่าก็ไว้ ของใหม่ก็เอา” เราจะมีสะพานคู่กันต่างกาลเวลา จะเป็นจุดขายแหล่งท่องเที่ยวได้เลยก็ได้

รายการอ้างอิง

เชียงรายโฟกัส. (2563, 19 พฤษภาคม). ก่อนจะมาเป็นสะพานข้ามแม่น้ำกก ในปัจจุบัน. เชียงรายโฟกัส. https://www.facebook.com/crfocus/posts/3065861636783509/

Rate this post

Leave a Reply

Your email address will not be published. Required fields are marked *