May 16, 2024

          โรงเรียนยุพราชวิทยาลัย เป็นโรงเรียนรัฐบาลแห่งแรกของจังหวัดเชียงใหม่ ตั้งขึ้นด้วยพระบรมราโชบาย ในการขยายการศึกษาออกสู่หัวเมืองของพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว รัชกาลที่ 5 เริ่มแรกตั้งเป็นโรงเรียนสอนหนังสือไทย อยู่บริเวณศาลากลางสวนในตําหนักที่ประทับพระเจ้าน้องยาเธอพระองค์เจ้าโสณบัณฑิต โดยมี ม.ร.ว.จันทร์ เป็นอาจารย์ใหญ่ เรียกว่า“โรงเรียนเมืองนครเชียงใหม่” เปิดสอนครั้งแรกวันที่ 20 มิถุนายน พ.ศ. 2432

          โดยประวัติของโรงเรียนยุพราชวิทยาลัยเรียงตามปี พ.ศ. สามารถสรุปได้ดังนี้

 

พ.ศ. 2442

          พ.ศ. 2442 ได้รับการจัดตั้งเป็นโรงเรียนสอนหนังสือไทยขึ้นที่วัดเจดีย์หลวง มีพระยาอุปกรณ์ ศิลปศาสตร์ ข้าหลวงธรรมการมณฑลเป็นครูใหญ่คนแรก ต่อมาเริ่มมีจํานวนนักเรียนเพิ่มมากขึ้น จึงได้ขยายที่เรียนมาอยู่ที่โรงละครของเจ้าอินทวโรรสสุริยวงค์ เจ้าผู้ครองนครเชียงใหม่องค์ที่ 8 เมื่อปี พ.ศ. 2444 ได้บริจาคที่ดินคือ ที่ดินสี่แยกถนนวโรรส กลางเมืองเชียงใหม่ และยกโรงเรือน ซึ่งเป็นโรงละครเดิมจํานวน 1 หลัง เพื่อให้สร้างโรงเรียน

พ.ศ. 2445

          พ.ศ. 2445 พระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัวทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ แต่งตั้งให้พระยาสุรสีห์ วิสิษฐ์ศักดิ์ (เชย กัลยาณมิตร) ขึ้นมารับราชการตําแหน่งข้าหลวงใหญ่ประจํามณฑลพายัพ โดยเฉพาะทางด้านการศึกษานั้น พระยาสุรสีห์วิสิษฐ์ศักดิ์พยายามดําเนินการทุกวิถีทางที่จะใช้การศึกษาแผนใหม่ “เป็นเครื่องช่วยในการปฎิรูปมณฑลพายัพ เริ่มจากการสร้างโรงเรียน โดยได้มอบหมายให้ขุนอุปกรณ์ศิลปศาสตร์ ข้าหลวงธรรมการมณฑลพายัพ เป็นหัวหน้าบอกบุญเรี่ยรายเงินจากเจ้านายฝ่ายเหนือและข้าราชการมณฑลได้เงินจํานวนมาก การก่อสร้างโรงเรียนที่เจ้าอินทวโรรส สุริยวงค์ ได้ก่อสร้างค้างไว้ จึงได้เริ่มดําเนินการต่อจนกระทั่งถึงปี พ.ศ. 2448

พ.ศ. 2448

          เมื่อพระบาทสมเด็จพระมงกุฎเกล้าเจ้าอยู่หัวรัชกาลที่ 6 ครั้งยังดํารงพระอิสริยศเป็นสมเด็จพระบรมโอรสาธิราชสยามมกุฎราชกุมาร ได้เสด็จประพาสมณฑลพายัพ ทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ เสด็จเยี่ยมโรงเรียนเมื่อวันที่ 24 ธันวาคม พ.ศ. 2448 ดังความปรากฏในลิลิตพายัพ ความว่า ” ครั้นรุ่งขึ้นพระองค์ทรงรัถยานขับรี่ สู่ที่ตั้งโรงเรียนอ่านเขียนหนังสือสยาม เล่าบ่นตามกําหนด หมดทั้งเลขวิทยาราชาทอดพระเนตรเสร็จ ผันพักตร์เสด็จโดยบาทสู่อาวาสเจดีย์หลวง” ในการเสด็จประพาสมณฑลพายัพครั้งนี้พระบาทสมเด็จพระมงกุฎเกล้าเจ้าอยู่หัวได้โปรดพระราชทานทรัพย์ส่วนพระองค์ จํานวน 500 บาท สมทบการสร้างโรงเรียน และได้พระราชทานนามโรงเรียนที่ก่อสร้างใหม่ว่า “โรงเรียนยุพราชวิทยาลัย” ซึ่งมีความหมายว่าเป็นโรงเรียนของสมเด็จพระยุพราช

 

พ.ศ. 2449

          วันที่ 23 กันยายน พ.ศ. 2449 เจ้าอินทวโรรสสุริยวงศ์ เจ้าผู้ครองนครเชียงใหม่ องค์ที่ 8 ได้เป็นประธานเปิดโรงเรียนต่อมาได้ย้ายโรงเรียนมาอยู่บริเวณคุ้มหลวง ณ ที่ตั้งโรงเรียน ในปัจจุบัน เลขที่ 238 ถนนพระปกเกล้า ตําบลศรีภูมิ อําเภอเมือง จังหวัดเชียงใหม่ เริ่มก่อสร้าง “ตึกยุพราช” เป็นอาคารเรียนหลังแรก เมื่อวันที่ 14 กรกฎาคม พ.ศ.2455 โดยเงินบริจาคของเจ้านายข้าราชการมณฑล พ่อค้า ประชาชน เป็นเงินทั้งสิ้น 15,614 บาท และได้เปิดทําการเรียนการสอนเมื่อวันที่ 28 พฤศจิกายน พ.ศ. 2458 ปัจจุบันโรงเรียนตั้งอยู่บนเนื้อที่ 29 ไร่ 2 งาน 97 ตารางวา

 

พ.ศ. 2469

          วันที่ 25 มกราคม พ.ศ.2469 พระบาทสมเด็จพระปกเกล้าเจ้าอยู่หัว และสมเด็จพระนางเจ้ารําไพ-พรรณี พระบรมราชินีได้เสด็จฯ พระราชทานธงประจํากองลูกเสือมณฑลพายัพ ณ สนามหน้าตึกยุพราช

 

พ.ศ. 2501

          วันที่ 9 มีนาคม พ.ศ. 2501 พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวภูมิพลอดุลยเดช (รัชกาลที่ 9) และสมเด็จพระนางเจ้าฯ พระบรมราชินีนาถ เสด็จพระราชดําเนินทรงเยี่ยมโรงเรียนและพระราชทานพระราชหัตถเลขาไว้ในสมุดเยี่ยม

 

พ.ศ. 2527

          วันที่ 18 เมษายน พ.ศ. 2527 ได้รับพระบรมราชานุญาตให้จัดตั้งหอวชิราวุธานุสรณ์ สาขาจังหวัดเชียงใหม่ที่ตึกยุพราช และติดตราพระราชลัญจกรประจําพระองค์ พระบาทสมเด็จพระมงกุฎเกล้าเจ้าอยู่หัวบริเวณจั่วหน้ามุขตึกยุพราช นอกจากนี้ ในปีเดียวกัน โรงเรียนได้รับคัดเลือกจากกระทรวงศึกษาธิการและสถาบันส่งเสริมการสอนวิทยาศาสตร์ และเทคโนโลยีให้เป็นศูนย์พัฒนาและส่งเสริมผู้มีความสามารถพิเศษด้านวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี (พสวท.)

 

พ.ศ. 2529

          พ.ศ. 2529 – 2531 ได้รับพระเมตตาจากเจ้าพระคุณสมเด็จพระญาณสังวร เป็นประธานการบูรณปฏิสังขรณ์วัดนางเหลียว (ร้าง) เพื่อให้เป็นธรรมสถาน สถานที่ฝึกอบรมศีลธรรมจรรยาแก่นักเรียน

 

พ.ศ. 2531

          วันที่ 14 พฤศจิกายน พ.ศ. 2531 สมเด็จพระเจ้าภคินีเธอเจ้าฟ้าเพชรรัตนราชสุดาสิริโสภาพัณณวดี

เสด็จฯ ทรงเยี่ยมโรงเรียนทอดพระเนตรการบูรณะธรรมสถาน

 

พ.ศ. 2532

          วันที่ 1 มกราคม พ.ศ. 2532 โรงเรียนยุพราชวิทยาลัยได้รับพระมหากรุณาธิคุณจากสมเด็จพระเจ้า-ภคินีเธอเจ้าฟ้าเพชรรัตนราชสุดาสิริโสภาพัณณวดี ทรงรับโรงเรียนไว้ในพระอุปถัมภ์ และทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ พระราชทานพระวโรกาสให้คณะครู และนักเรียนเข้าเฝ้าฯ เป็นประจําทุกปี

 

พ.ศ. 2559

          วันที่ 29 ธันวาคม พ.ศ. 2559 กรมศิลปากร มอบตึกยุพราช ให้โรงเรียนยุพราชวิทยาลัย รับผิดชอบดูแลหลังจากได้รับการบูรณะซ่อมแซ่ม อาคารจากสํานักศิลปากรที่ 8 เชียงใหม่ เพื่อจัดเป็นหอวชิราวุธานุสรณ์ สาขาจังหวัดเชียงใหม่ และเป็นแหล่งเรียนรู้แก่ผู้มาเยือนโรงเรียน

 

พ.ศ. 2561

          เมื่อวันที่ 31 สิงหาคม พ.ศ. 2561 โรงเรียนยุพราชวิทยาลัย ได้เปิดอาคาร “วชิรดารา” พระนามพระผู้ประทานคุ้มหลวงให้กับชาวยุพราชวิทยาลัย โดยใช้แบบอาคาร 325/ล.55-ข (เขตแผ่นดินไหว) เริ่มก่อสร้างเมื่อวันที่ 25 มกราคม 2560

 

พ.ศ. 2563

          ศาลาประดิษฐานพระพุทธปัญญาบารมี ออกแบบก่อสร้างด้วยรูปทรงสถาปัตยกรรมล้านนาดั้งเดิม ทรงหลังคาลดหลั่นกัน ประกอบด้วย ประสาทเฟื้องบริเวณยอด ซึ่งเป็นไปตามองค์ประกอบตามลักษณะรูปแบบวิหารล้านนา โดยการย่อส่วนลงมาตามความเหมาะสม ภายในมีฐานชุกชี เพื่อใช้ประดิษฐานพระพุทธปัญญาบารมี บันไดทางขึ้น-ลงด้านหน้ามีงานประติมากรรมตัวมอมสองตัว ตามความเชื่อว่าเป็นสัตว์หิมพานต์ ชนิดหนึ่งที่มีลักษณะโดดเด่นด้านพุทธศิลป์ มักปรากฏคู่กับวัดและวิถีชีวิตของชาวล้านนา ศาลาพระพุทธรูป ได้ประกอบพิธีตั้งเสาเอก ในวันที่ 21 สิงหาคม 2563 และประกอบพิธีหล่อพระพุทธรูปประจําโรงเรียน พระพุทธปัญญาบารมี พระพุทธธรรมบารมี พระพุทธมงคลนฤมิตร ในวันที่ 30 พฤศจิกายน 2563 ณ วัดล่ามช้าง เมื่อวันที่ 9 ธันวาคม พ.ศ.2563 ได้มีพิธีอัญเชิญพระพุทธรูปทั้งสามองค์มา ประดิษฐาน ณ ศาลาพระพุทธรูป โรงเรียนยุพราชวิทยาลัยเพื่อให้เป็นที่เคารพสักการะบูชาเกิดความเป็นสิริมงคล นอกจากนี้ เมื่อวันอังคารที่ 29 ธันวาคม พ.ศ.2563 โรงเรียนยุพราชวิทยาลัย ได้เปิดอาคารอเนกประสงค์ 3 ชั้น (แบบพิเศษ) อาคาร “ศูนย์วิทยบริการดารารัศมี” โดยตั้งชื่ออาคารตามพระนามเจ้าดารารัศมีพระราชายา ซึ่งเป็นผู้ประทานที่ดินคุ้มหลวงเดิมของเจ้าผู้ครองนครเมืองเชียงใหม่ให้เป็นที่ตั้งโรงเรียนยุพราชวิทยาลัย ดําเนินการสร้างตั้งแต่วันที่ 21 กันยายน พ.ศ.2562-23 ธันวาคม พ.ศ.2563 และจัดทําพิธีวางศิลาฤกษ์ วันจันทร์ที่ 19 สิงหาคม พ.ศ.2562 ใช้วงเงินก่อสร้าง 40,985,000 บาท (สี่สิบล้านเก้าแสนแปดหมื่นห้าพันบาทถ้วน)

 

พ.ศ. 2564

          การปรับปรุงบูรณะฐานศาลเจ้าแม่สองนางและภูมิทัศน์โดยรอบ ได้จัดพิธีประดิษฐานศาลเจ้าแม่สองนางในวันพฤหัสบดีที่ 23 กันยายน 2564 (แรม 2 ค่ํา เดือน 10) โดยสถานที่ตั้งศาลเจ้าแม่สองนางอยู่บริเวณต้นสมอพิเภกซึ่งถือเป็นต้นไม้ที่อยู่คู่ยุพราชวิทยาลัย ยาวนานมากกว่า 100 ปี และเป็นแหล่งเรียนรู้พรรณไม้แก่ชาวยุพราชรวมถึงบุคคลที่สนใจ

 

พ.ศ. 2565

          สมเด็จพระกนิษฐาธิราชเจ้า กรมสมเด็จพระเทพรัตนราชสุดา สยามบรมราชกุมารี เสด็จพระราชดําเนินมาทรงเยี่ยมโรงเรียนยุพราชวิทยาลัย เมื่อวันที่ 12 มกราคม 2565

รายการอ้างอิง

โรงเรียนยุพราชวิทยาลัย กลุ่มงานสารสนเทศ ฝ่ายนโยบายและแผน . (2565). สสารสนเทศ โรงเรียนยุพราชวิทยาลัย ประจำปีการศึกษา 2565. ค้นจาก http://https://sites.google.com/yupparaj.ac.th/yrcinformation/2565

 
Rate this post

Leave a Reply

Your email address will not be published. Required fields are marked *