May 18, 2024

          จอมพล ป. พิบูลสงคราม นายกรัฐมนตรีคนที่ 3 ของสยาม เดิมชื่อ แปลก ขีตะสังคะ ท่านจบการศึกษาชั้นมัธยมที่โรงเรียนวัดเขมาภิรตาราม จังหวัดนนทบุรี หลังจากนั้นได้เข้าเรียนในโรงเรียนนายร้อยทหารบก โรงเรียนเหล่าทหารปืนใหญ่ และโรงเรียนเสนาธิการทหารบกรุ่นที่ 10 ในปี พ.ศ. 2467 ได้เดินทางไปศึกษาต่อ ณ ประเทศฝรั่งเศส เมื่อกลับมาถึงสยามท่านได้ดำรงตำแหน่งเป็นหัวหน้ากองตรวจอากาศสำหรับทดลอง กรมจเรทหารปืนใหญ่ ได้รับบรรดาศักดิ์และราชทินนามเป็นหลวงพิบูลสงครามและพันตรีหลวงพิบูลสงครามตามลำดับ นอกจากทำงานประจำแล้ว ท่านยังเป็นอาจารย์สอนในโรงเรียนเสนาธิการทหารบกและโรงเรียนทหารปืนใหญ่ รวมทั้งเขียนบทความด้านการทหารปืนใหญ่เผยแพร่ในวารสารด้านทหารอีกด้วย

          ในปีพ.ศ. 2469 ขณะที่ศึกษาอยู่ ณ ประเทศฝรั่งเศส ท่านกับนักเรียนไทยอีก 7 คน ที่เรียนในยุโรปได้ร่วมกันก่อตั้งคณะราษฎร ซึ่งเป็นคณะที่ทำการเปลี่ยนแปลงการปกครองจากระบอบสมบูรณาญาสิทธิราชย์มาเป็นระบอบประชาธิปไตย ในปี พ.ศ. 2475

          หลังจากการปฏิวัติ 2475 ท่านได้เริ่มทำงานทางการเมืองในตำแหน่งต่างๆ ไปพร้อมกับการทำงานทางการทหาร เช่น มีตำแหน่งเป็นกรรมการราษฎรในคณะผู้บริหารราชการแผ่นดิน พร้อมกับการคุมกำลังทัพในตำแหน่งรองผู้บัญชาการทหารปืนใหญ่ เป็นรัฐมนตรีลอยในสมัยที่พระยามโนปกรณ์นิติธาดาเป็นนายกรัฐมนตรีและเป็นรัฐมนตรีกลาโหมในรัฐบาลนายพันเอกพระยาพหลพลพยุหเสนา ตำแหน่งทางการเมืองสูงสุด คือ การเป็นนายกรัฐมนตรีและดำรงตำแหน่งถึง 2 สมัย คือ สมัยแรก ระหว่างปี พ.ศ. 2481-2487 และสมัยที่ 2 ระหว่างปี พ.ศ. 2491-2500 รวมสองสมัยเป็นเวลา 15 ปี นับว่าเป็นนายกรัฐมนตรีที่อยู่ในตำแหน่งนานที่สุด

          เมื่อวันที่ 16 กันยายน พ.ศ. 2500 จอมพลสฤษดิ์ ธนะรัชต์ ผู้บัญชาการทหารบกและรัฐมนตรีกลาโหมในขณะนั้นได้ทำการปฏิวัติยึดอำนาจ ทำให้จอมพล ป. พิบูลสงครามและครอบครัวต้องลี้ภัยออกนอกประเทศ ไปอยู่ ณ ประเทศกัมพูชา และญี่ปุ่น ตามลำดับ

          ท่านได้ถึงแก่อสัญกรรม ณ ประเทศญี่ปุ่นเมื่อวันที่ 11 มิถุนายน พ.ศ. 2507

          งานที่ทำให้ท่านมีชื่อเสียงมาก คือ การสร้างชาติไทย ในสมัยที่ท่านดำรงตำแหน่งนายกรัฐมนตรีสมัยแรก การดำเนินการครั้งนี้แม้จะใช้เวลาเพียง 6 ปีเท่านั้น และนโยบายบางอย่างได้เลิกล้มไปหลังจากที่ท่านพ้นจากตำแหน่งนายกรัฐมนตรีในระยะแรกไปแล้วก็ตาม แต่นโยบายบางอย่างยังมีผลต่อโครงสร้างความคิด วัฒนธรรมของไทยในด้านต่างๆ เช่น การแต่งกาย การกินอยู่ ภาษาและวรรณคดีของคนไทยทั่วทั้งประเทศ

          การดำเนินนโยบายดังกล่าว รัฐบาลจะสั่งงานออกมาในรูปของรัฐนิยม สภาวัฒนธรรมแห่งชาติ ประกาศของสำนักนายกรัฐมนตรี และโครงการบำรุงราษฏร ของนายกรัฐมนตรี คำขวัญหนึ่งที่ดูจะสะท้อนการดำเนินนโยบายของจอมพล ป. พิบูลสงครามได้เป็นอย่างดี คือ “เชื่อผู้นำ ชาติพ้นภัย” ในที่นี้จะขอยกตัวอย่างการดำเนินนโยบายการสร้างชาติไทย ดังนี้

          การออกรัฐนิยม รัฐนิยมเปรียบเสมือนประกาศิตของรัฐบาลที่ประชาชนต้องพร้อมใจกันปฏิบัติ ในช่วงระยะเวลา 6 ปี ที่รัฐบาลได้ออกรัฐนิยมทั้งสิ้น 12 ฉบับ เช่น การเปลี่ยนชื่อประเทศจากสยามเป็นไทย เพื่อให้ต้องตามชื่อชนชาติ ประชาชนไทยต้องรู้จักเคารพธงชาติ เพลงชาติ และเพลงสรรเสริญพระบารมี มีการออกระเบียบไว้อย่างชัดเจนว่า ต้องเคารพเวลาใด และวาระใด วางระเบียบในเรื่องการแต่งกายให้เรียบร้อย เป็นต้น

          สภาวัฒนธรรม สภาดังกล่าวนี้ตั้งขึ้นเนื่องจากมองเห็นความจำเป็นของการส่งเสริมวัฒนธรรมของชาติ ดังนั้นจึงได้มีการจัดตั้งสภาวัฒนธรรมขึ้นตามพระราชบัญญัติวัฒนธรรมแห่งชาติ พุทธศักราช 2485 โดยแบ่งงานเป็น 5 สำนัก คือ

          1. สำนักวัฒนธรรมทางจิตใจ เช่น ตราพระราชบัญญัติจัดงานให้ผู้ไร้อาชีพ เดือนกันยายน พ.ศ. 2484 และนโยบายการกินดีอยู่ดีด้วยการอบรมสั่งสอนให้ประชาชนรู้จักกินหมู เป็ด ไก่ เนื้อ ผัก ไข่ไก่ ไม่ใช่กินข้าวกับน้ำพริก หรือกินสัตว์เลื้อยคลานที่ไม่สมควรเป็นอาหารเป็นต้น

          2. การสร้างชาติทางระเบียบประเพณี เช่นประกาศให้วันที่ 24 มิถุนายน ของทุกปีเป็นวันชาติ เปลี่ยนปีใหม่จากวันสงกรานต์ที่ 13 เมษายน มาเป็นวันที่ 1 มกราคม การยกเลิกบรรดาศักดิ์ตั้งแต่ชั้นเจ้าพระยา พระยา พระ หลวง ขุน ตั้งแต่วันที่ 15 พฤษภาคม พ.ศ. 2485 และประกาศกระทรวงมหาดไทยแนะนำให้คนไทยแต่ตัวตามระเบียบที่วางไว้ เพื่อให้เป็นที่เชิดหน้าชูตาของชาติ เช่น ผู้ชายต้องสวมหมวก รองเท้า หุ้มส้นถุงเท้า เสื้อนอกและกางเกงขายาว ผู้หญิงมีหมวก กระโปรง เสื้อนอกคลุมไหล่ รองเท้าหุ้มส้นหรือรัดส้น เป็นต้น

          3. การสร้างชาติทางศิลปกรรม เช่น การออกพระราชกฤษฎีกากำหนดวัฒนธรรมแห่งชาติ พ.ศ. 2485 มาตราที่ 9 ที่ว่า คนไทยจะต้องส่งเสริมความเจริญก้าวหน้าทางศิลปกรรม มีการตั้งมหาวิทยาลัยศิลปากร ในปี พ.ศ. 2486 กำหนดให้มีการรำวงมาตรฐาน และสนับสนุนให้ข้าราชการหญิงชายได้หยุดงานในวันพุธบ่ายเพื่อฝึกซ้อมรำวง สร้างวัฒนธรรมกัน เป็นต้น

          4. การสร้างชาติทางวรรณกรรม รัฐบาลถือว่าชาติที่เจริญ คนต้องรู้หนังสือ จึงจัดให้มีการส่งเสริมการศึกษาผู้ใหญ่ และการปรับปรุงตัวอักษรไทยให้มีความกะทัดรัด เรียนง่าย อ่านง่าย โดยตัดสระที่ซ้ำและไม่งดงามเสีย เช่น งดใช้สระ ใ ฤ ฤา ฦ ฦา งดใช้พยัญชนะ ฃ ฅ ฌ ฎ ฏ ฐ ฑ ฒ ณ ศ ษ และ ฬ วางระเบียบการใช้คำต่างๆ เช่นคำสรรพนาม บุรุษที่ 1 ให้ใช้คำว่า ฉัน และท่าน สำหรับบุรุษที่ 2 เป็นต้น

          5. การสร้างชาติทางสตรี รัฐบาลมีจุดมุ่งหมายยกฐานะสตรีให้เท่าเทียมชาย เช่นมีการจัดตั้งกองทหารหญิง โรงเรียนนายร้อยและนายสิบสำหรับผู้หญิง และการออกประกาศเรื่องวัฒนธรรมผัวเมีย เป็นต้น แม้ในเชียงใหม่ยังได้มีการตั้งสมาคมส่งเสริมวัฒนธรรมสตรีศรีลานนาไทยตามนโยบายการสร้างชาติทางสตรีของรัฐบาลด้วย

          การดำเนินนโยบายของรัฐบาลประสบความสำเร็จอย่างมาก ก็เพราะมีสื่อทั้งวิทยุและหนังสือพิมพ์ช่วยในการเผยแพร่อย่างกว้างขวาง และแม้ว่าเมื่อจอมพลป. พิบูลสงคราม ได้พ้นตำแหน่งไปแล้ว มีคำสั่งของรัฐบาลชุดใหม่ให้ยกเลิกนโยบายการสร้างชาติดังกล่าวแล้วก็ตาม แต่ระเบียบประเพณีบางอย่างก็ยังคงอยู่

รายการอ้างอิง
ชาญวิทย์ เกษตรศิริ (บรรณาธิการ). (2544). จอมพลป. พิบูลสงครามกับการเมืองไทยสมัยใหม่. กรุงเทพฯ: มูลนิธิโครงการตำราสังคมศาสตร์และมนุษยศาสตร์.
แถมสุข นุ่มนนท์. (2519, มิถุนายน-กันยายน). การเมืองไทยยุคเชื่อผู้นำ. วารสารธรรมศาสตร์, 6(1).

Rate this post

Leave a Reply

Your email address will not be published. Required fields are marked *